ม.มหิดล เตรียมวิจัยออกแบบหน้ากาก N95 ต้านฝุ่น PM2.5 และไวรัส Covid-19

จันทร์ ๒๐ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๑:๒๖
จากงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าในพื้นที่ที่ประชากรได้รับ PM2.5 อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าพื้นที่อื่นเพียง 1 ไมโครกรัม ต่อ ลูกบาศก์เมตร มีผู้ป่วย Covid-19 เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 15

นั่นหมายความว่าในบริเวณที่มี PM2.5 สูง มีโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส Covid-19 เสียชีวิตมากกว่าปกติ เนื่องจาก PM2.5 มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เชื้อไวรัส Covid-19 ทำลายปอดได้รุนแรงมากกว่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดจากปัญหาการจราจร การเผาไหม้เชื้อเพลิงในยานพาหนะ การประกอบอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง และไฟป่า จนเมื่อเกิดสถานการณ์ Covid-19 และได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งต่อมาให้ใช้เป็นการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) การรณรงค์ให้ทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ตลอดจนการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากเคหสถานตามพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด พบว่าเป็นการส่งผลดีทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ยังพบว่าสภาพอากาศที่ร้อนในช่วงนี้ ส่งผลดีต่อการกระจายตัวของ PM2.5 ทำให้การยกตัวและไหลเวียนของอากาศเกิดได้ดี ช่วยพัดพาและลดการสะสมของฝุ่นละอองไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่วิตกกันในกลุ่มนักวิชาการสิ่งแวดล้อมว่า เมื่อปัญหา Covid-19 บรรเทาไปแล้ว และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ กิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิด PM2.5 จะกลับมาอีกครั้ง หากไม่มีมาตรการใดๆ มาป้องกันรองรับ

N95 เป็นหน้ากากอนามัยที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งแบบใช้ทางการแพทย์ และกรองฝุ่น PM2.5 โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศว่า หน้ากาก N95 ชนิดที่ใช้กรองฝุ่นไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ เนื่องจากมีอนุภาคที่เล็กกว่ามาก โดยฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในขณะที่เชื้อไวรัส Covid-19 มีขนาดอนุภาคเพียง 0.05-0.2 ไมครอน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวระหว่างปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงทำให้เกิดโจทย์วิจัยว่าจะทำอย่างไรให้หน้ากาก N95 ใช้กรองได้ดีทั้งฝุ่นและเชื้อโรค

ขณะนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยด้านวัสดุที่จะมาใช้ผลิตหน้ากาก N95 การพัฒนาแผ่นกรองจากวัสดุบางชนิดที่จะมาใช้กับหน้ากาก N95 รวมถึงการออกแบบและจำลองทางวิศวกรรมศาสตร์ในการออกแบบหน้ากาก N95 ที่เหมาะสม รวมไปถึงการร่วมวิจัยแบบสหสาขาวิชา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ด้วย

"ตอนนี้เรารู้แล้วว่า Social Distancing/Physical Distancing และ Work From Home สามารถช่วยลดปัญหา PM2.5 ได้ เพราะฉะนั้น หากเรายังทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิด PM2.5 เหมือนเดิม และยังใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิม แน่นอนว่าปัญหา PM2.5 ก็คงต้องกลับมาเหมือนเดิม

ถึงเวลาแล้วที่เราควรต้องคิดเตรียมหามาตรการมารองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเราหวังให้นวัตกรรมการพัฒนาออกแบบหน้ากาก N95 มาช่วยตอบโจทย์ และไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขอเพียงคนไทยมีสติและกำลังใจ จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ..เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง