สถาบันอาหารเผยโควิด-19 พลิกโฉมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย

จันทร์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๐:๓๖
สถาบันอาหาร เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียเปลี่ยน ชี้โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีนวัตกรรมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายรูปแบบต่างๆ ส่วนอาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมรับประทานอาหารที่มีอายุเก็บรักษานาน และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพมีอัตราเติบโตสูง ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรมการซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น เกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น และนิยมซื้อทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น New Normal แนะผู้ประกอบการแปรรูปอาหารของไทยต้องปรับกลยุทธ์ตอบโจทย์ตลาดให้ทัน สร้างช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์อย่างจริงจัง จับมือพันธมิตรด้านขนส่ง สร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์สินค้าคุณภาพและความปลอดภัย สถาบันอาหารพร้อมดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่ม SME ในระยะสั้นด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการ เช่น ส่วนลดในการใช้บริการด้านต่างๆ ทั้งยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการในเกือบทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการที่หลากหลาย
สถาบันอาหารเผยโควิด-19 พลิกโฉมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) สถาบันอาหาร ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งจะเป็นโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างสินค้านวัตกรรมที่จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของโรคในอนาคต เช่น ผู้บริโภคเวียดนาม นิยมรับประทานกระเทียมดำ เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย หรือผู้บริโภคฟิลิปปินส์ นิยมรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะรุมและน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มากขึ้น ส่วนผู้บริโภคสิงคโปร์มีความต้องการวิตามินซีและวิตามินรวมมากขึ้น 3-5 เท่า สำหรับในญี่ปุ่น โรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ หันมาเน้นช่องทางค้าปลีกเพื่อผู้บริโภคโดยตรงมากกว่าป้อนช่องทางธุรกิจบริการอาหารต่างๆ อาหารที่มีอายุเก็บรักษานานมียอดขายเติบโดมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม เป็นต้น

ที่เกาหลีใต้ บริษัท CJ CheilJedang บริษัทชั้นนำเกาหลีใต้ด้านอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย “2020 HMR Trend” หลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าชาวเกาหลีใต้เน้นการประหยัดระยะเวลาในการเตรียมอาหาร โดยรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้นราวร้อยละ 83 ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 46.4 เช่น สินค้าอาหารที่ใช้การทอดอย่างเดียว หรือที่ใช้ไมโครเวฟอุ่น รวมถึงสินค้า Meal Kit ที่ใช้วิธีปรุงแค่เทส่วนประกอบอาหารทั้งชุดลงไปในหม้อและต้มอย่างเดียว ขณะเดียวกันยังเกิดพฤติกรรมรับประทานอาหารมื้อดึกหรือมือที่ 4 เพิ่มมากขึ้น เรียกว่า “4 th Meal” อาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สินค้าไก่แช่แข็ง เช่น ไก่ทอด ไก่นักเก็ต นอกจากนี้ยังมีเกี๊ยวซ่าแช่แข็ง ไส้กรอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวพร้อมรับประทาน ลูกชิ้น เบเกอรี่แช่แข็ง เป็นต้น โดยผู้บริโภคยังให้ความสำคัญเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดีต่อสุขภาพแม้ว่าราคาจะสูงก็ตาม

ด้านบริษัทวิจัย Nielsen สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค 11 ประเทศในเอเชีย หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 86 ในจีน จะรับประทานอาหารที่บ้าน รองลงมาคือ ฮ่องกง ร้อยละ 77 และมาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ ร้อยละ 62 โดยพบว่ามูลค่าค้าปลีกอาหารในเอเชียมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20-25 ต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

นางอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดอาหารในเอเชียมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นตลาดที่บ่มเพาะสินค้านวัตกรรมมากขึ้น วิถีชีวิตผู้บริโภคที่กลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร(Food Delivery) เติบโตขึ้น สถานการณ์โควิด-19 กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านและเกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นและไทย พฤติกรรมนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติของวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่(New Normal) โดยเป็นการสั่งซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้นด้วย

“การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้ธุรกิจการให้บริการอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องปรับตัว และเมื่อมีสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ผู้ประกอบการ แปรรูปอาหารยิ่งต้องปรับกลยุทธ์ของตนอย่างรวดเร็ว จึงจะตอบสนองทันต่อความต้องการ การสร้างช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์อย่างจริงจังกลายเป็นโอกาสของธุรกิจขนาดเล็กที่เข้าถึงได้ง่ายเพราะต้นทุนไม่สูง และต้องหาพันธมิตรมาช่วยเรื่องการจัดส่งสินค้า แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ ในสถานที่ผลิต และการให้ข้อมูลผู้บริโภคเพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร เชื่อว่าทุกคนจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้หากพร้อมปรับตัว”

นางอนงค์ กล่าวว่าในส่วนของสถาบันอาหารได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกลุ่ม SME ในระยะสั้นด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่น ส่วนลดในการใช้บริการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนลดในการใช้บริการห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ส่วนลดในการใช้บริการตรวจสอบหรือรับรองระบบ และส่วนลดในการใช้บริการฝึกอบรมแก่บุคลากร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำหลักสูตรออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจหากสภาพการค้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการในเกือบทุกภาคทั่วประเทศอย่าง ต่อเนื่องภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ "โครงการสร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายผลิตและแปรรูปผลไม้ เกษตรอินทรีย์เกษตรปลอดภัยครบวงจรด้วยระบบคุณภาพและนวัตกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภาคตะวันออก" ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยอาหาร

“โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากลปี 2563” ดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ธุรกิจเพื่อต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอาหารโดยชุมชน เน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรด้านมาตรฐานบริการและสินค้าเพื่อลดจุดอ่อนสร้างจุดแข็ง และให้คำปรึกษาเชิงลึกพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ “โครงการ SME Regular Level ปี 2563” ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ฉลากโภชนาการแบบไทยและต่างประเทศ ตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ(สินค้าปลอดภัย) หรือสอบเทียบเครื่องมือวัด “โครงการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมอาหารสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในกระบวนการผลิต” “โครงการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมสู่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป” ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส “โครงการการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสมุนไพรปี 2563” ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล “โครงการยกระดับและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเชิงสุขภาพ” ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี พังงา ชุมพร ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล และโครงการพัฒนาช่องทางการตลาดเชิงลึกสำหรับผู้ประกอบการ SME ปี 2563 เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ สามารถสอบถามรายละเอียด หรือขอรับบริการที่เกี่ยวข้องได้ที่สถาบันอาหาร โทร. 02 422 8688 หรือติดตามข่าวสารเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.nfi.or.th และ ทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ NFI SmartClub

สถาบันอาหารเผยโควิด-19 พลิกโฉมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย สถาบันอาหารเผยโควิด-19 พลิกโฉมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย สถาบันอาหารเผยโควิด-19 พลิกโฉมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง