สวพส. เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูง บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน “เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งบนดอยสูง”

จันทร์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๒๘
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งบนพื้นที่สูงผ่าน “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” มุ่งจัดทำฝายต้นน้ำ 5 แห่ง ถังเก็บน้ำและบ่อพวง 111 จุด และระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ 124,980 เมตร โดยจากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ดำเนินงานพบว่า มีเกษตรกรที่จะได้รับผลกว่า 296 ชุมชน ในพื้นที่ 424,936 ไร่ ทำให้ผลผลิตที่ส่งเสริมได้รับผลกระทบมูลค่ากว่า 9.2 ล้านบาท นอกจากนี้ สวพส. ยังได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเร่งบูรณาการ ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย และแผนการใช้ที่ดิน เพื่อชุมชนมีแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร มีโอกาสและทางเลือกในการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย
สวพส. เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูง บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งบนดอยสูง

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) เปิดเผยว่า สถาบันฯ มุ่งพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข โดยมีภารกิจหลักคือ การสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน จึงส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งเกษตรบนพื้นที่สูงต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทางสถาบันจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อแก้วิกฤติภัยแล้งบนพื้นที่สูง โดย นายอานนท์ ยอดญาติไทย นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา และ นางสาวอาทิตยา สุตา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ของสถาบันฯ ได้เรียบเรียงและจัดทำข้อมูล พบว่า

“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรทั้งประเทศ มีจำนวน 65.1 ล้านคน เป็นประชากรภาคเกษตร 22.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 34.49 ที่ต้องพึ่งพาน้ำที่เป็นปัจจัยหลักในการทำเกษตร จำเป็นต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยที่ดีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน อย่างที่ทราบกันดีกว่าพื้นที่ทำการเกษตรโดยส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานกว่าร้อยละ 87”

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีพื้นที่ดำเนินงาน ครอบคลุมพื้นที่สูงกว่า 5 ล้านไร่ ประชากรกว่า 250,000 คน ส่วนใหญ่เกษตรกรมีฐานะค่อนข้างยากจน ขาดโอกาส และปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และเพื่อทำการเกษตร ไม่สามารถเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ให้เป็นไปตามแผน และผลผลิตได้รับความเสียหาย จากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ดำเนินงานพบว่า มีเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จำนวน 296 ชุมชน 28,725 ครัวเรือน 114,443 คน พื้นที่ 424,936 ไร่ ผลผลิตที่ส่งเสริมได้รับผลกระทบมูลค่ากว่า 9.2 ล้านบาท

สถาบันจึงจัดทำ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” ซึ่งคณะกรรมการบริหารสถาบันเห็นชอบงบประมาณสะสมวงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ในระดับชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แผนที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้ตรงกับความต้องการของชุมชน และถูกต้องเหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในเบื้องต้นได้ทำการสำรวจพื้นที่ร่วมกับชุมชน และจัดทำแผนปฏิบัติการรายพื้นที่ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 37 แห่ง ครอบคลุม 84 ชุมชน จำนวนแหล่งน้ำ 138 แห่ง คาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์กว่า 5,473 คน ครอบคลุมพื้นที่ 12,709 ไร่ โดยแบ่งเป็นการจัดทำฝายต้นน้ำ จำนวน 5 แห่ง ถังเก็บน้ำและบ่อพวง จำนวน 111 จุด และระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ 124,980 เมตร นอกจากนี้สถาบันยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำลำธาร เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศน์ต้นน้ำ โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินงาน สนับสนุนการจ้างแรงงานชุมชนในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือด้านอาชีพและรายได้ เพื่อรองรับสถานการณ์ทั้งด้านภัยแล้งและโรคระบาดโควิด-19 เป็นการสร้างแรงจูงใจ สร้างความตระหนัก และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนต้นน้ำ

นอกจากนี้ยังได้รับการบูรณาการของหน่วยงานตามแผนแม่บท อาทิเช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรกรในชุมชน ในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบกฎหมาย และแผนการใช้ที่ดิน ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร มีโอกาสและทางเลือกในการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย โดยการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน สามารถผลิตพืชได้เป็นไปตามแผน สร้างรายได้ที่พอเพียง โดยใช้พื้นที่น้อยลง ผลผลิตมีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีตลาดรองรับ ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านอาชีพและอาหาร ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารของชุมชนและประเทศไทย ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทุกภาคส่วน เกิดความยั่งยืนและสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของโครงการหลวงต่อไป

สวพส. เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูง บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งบนดอยสูง สวพส. เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูง บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งบนดอยสูง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง