แพทย์ รพ. สงขลานครินทร์เจ๋ง ใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 สำเร็จ เป็นรายแรกของภาคใต้

จันทร์ ๒๕ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๑:๔๔
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์” โชว์ความสำเร็จในการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว นำไปรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการวิกฤติจนหายเป็นปกติ เป็นครั้งแรกของภาคใต้ พร้อมเชิญชวนผู้ป่วยที่หายเป็นปกติแล้ว ร่วมบริจาคพลาสมา ณ คลังเลือด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนผู้ป่วยได้มีโอกาสการรักษาและรอดชีวิตจากโควิด-19

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ทีมแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ประสบความสำเร็จในการใช้พลาสมาหรือน้ำเหลือง จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายแล้วนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการวิกฤติจนหายเป็นปกติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของภาคใต้ โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเพศชาย ที่ถูกส่งตัวต่อมาจากจังหวัดนราธิวาส และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรมาตรฐาน คือ ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) มาแล้ว 3 วันแต่อาการไม่ดีขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากที่ส่งต่อมายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้ป่วยมีค่าออกซิเจนในเลือดและค่าหัวใจต่ำลง ภาวะหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อหายใจ คณะแพทย์ผู้ทำการรักษาจึงพิจารณาให้การรักษาเสริม โดยใช้พลาสมาที่ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิด-19 จากโรงพยาบาล โดยทีมแพทย์ได้ทำการรักษาให้พลาสมาครั้งละ 200 ซีซี จำนวน 2 ครั้ง และผลปรากฎว่าในระยะเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะค่าการหายใจและค่าหัวใจดีขึ้น ภาวะการอักเสบต่างๆ ลดลง ค่าไวรัสที่คอหอยและในเสมหะมีปริมาณน้อยมากจนตรวจวัดไม่ได้ จนสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้และอาการปอดอักเสบดีขึ้น จนปัจจุบันผู้ป่วยหายเป็นปกติ และสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว นับเป็นผู้ป่วยรายสุดท้ายของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาด้วยพลาสมาเป็นวิธีการรักษาทางเลือก ทีมแพทย์ต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีหลักการในการรักษา โดยต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคน จะสามารถรักษาด้วยพลาสมาแล้วจะหายเป็นปกติได้ทุกราย ซึ่งตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาด ทางโรงพยาบาลได้ทำการรักษาผู้ป่วยโควิดไปแล้ว 30 ราย โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้อาการวิกฤติ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหาย อยู่ระหว่างรอฟักฟื้น หรืออาการไม่หนักมากแล้ว จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 จังหวัดสงขลา

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายเป็นปกติแล้ว ติดต่อมาเพื่อบริจาคพลาสมาหลายราย โดยสามารถบริจาคได้ที่คลังเลือด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งผู้บริจาคต้องได้รับการตรวจว่าไม่มีการติดเชื้อที่สามารถติดต่อทางการให้เลือด โดยบริจาคพลาสมาในแต่ละครั้ง ได้ในปริมาณ 400-600 ซีซี และสามารถบริจาคซ้ำได้อีกหากยังมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ เพื่อเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้มีโอกาสการรักษาและรอดชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๔ ยันม่าร์ ประกาศอย่างเป็นทางการในการสนับสนุนสมาคมฟุตบอลอาเซียน
๑๗:๑๔ รู้ใจชวนทำความรู้จักเทเลเมติกส์ เทคโนโลยีลดอุบัติเหตุ ขับเคลื่อนท้องถนนปลอดภัย
๑๗:๐๙ The Food School Bangkok ผนึก 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ มอบทุนกว่า 1.5 ล้านบาท เปิดตัว Future Chef of the World 2025
๑๗:๓๔ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง ทำงานอย่างไรให้มีความสุข
๑๗:๑๗ JGAB 2025 เปิดเวที The Next Gem Awards 2025 เฟ้นหาดีไซน์เนอร์เครื่องประดับรุ่นใหม่
๑๖:๐๙ ผถห. LEO ไฟเขียวปันผล 0.14 บาท/หุ้น รับทรัพย์ 14 พ.ค.นี้ เดินหน้ายุทธศาสตร์ LEO Go Green - รุกขยายธุรกิจใหม่ ดันกำไรขั้นต้นโตต่อเนื่อง
๑๖:๕๗ เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เปิดตัวโซลูชันคลังสินค้าและโลจิสติกส์อัจฉริยะ ยกระดับการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)
๑๖:๔๖ กระทรวง อว. โดย สวทช. - กรมควบคุมโรค กระทรวง สธ. ผนึกกำลังใช้ระบบ DDC-Care Platform เทคโนโลยีรับมือโรคระบาดข้ามพรมแดน
๑๖:๕๙ สจล. ร่วมมือมูลนิธิปัญพัฒน์เพื่อคนพิการ ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมอาชีพครอบครัวคนพิการอย่างยั่งยืน
๑๖:๓๕ KOAN ในเครือ CPW บุกตลาด Smart Home เปิดตัวนวัตกรรมบ้านอัจฉริยะในงานสถาปนิก'68 ภายใต้แนวคิด Touch And