นักวิจัย ชี้ จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัวของ“ภาคบริการและชุมชน”

พฤหัส ๑๑ มิถุนายน ๒๐๒๐ ๑๖:๒๒
การจะบริหารจัดการเพื่อสร้างสมดุลการใช้น้ำในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการวางแผนสำหรับอนาคตใน 20 ข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ของชาตินั้นไม่ง่าย นักวิจัย“โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก”เผยมุมมอง ภาคอุตสาหกรรมที่เคยเป็นตัวร้ายถูกมองเป็นผู้ใช้น้ำมากปัจจุบันปรับตัวและพัฒนาไปมากแล้ว ส่วนที่น่าห่วงคือ ความต้องการใช้น้ำของภาคบริการ ท่องเที่ยว และการอุปโภค-บริโภคของชุมชนและเมืองที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะต้องการใช้น้ำจำนวนมากพอๆ กับภาคอุตสาหกรรม หากไม่มีการเตรียมการที่ดี จะเป็นจุดตายของ EEC
นักวิจัย ชี้ จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัวของภาคบริการและชุมชน

รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน จากภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย“เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” และหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงความก้าวหน้าของผลการศึกษาฯ ว่า เมื่อพูดถึงเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC สปอตไลท์มักจับไปที่ภาคอุตสาหกรรม ตัวการสำคัญที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมหาศาล

ในความเป็นจริงเขตอุตสาหกรรมใหม่แห่งนี้ซึ่งประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคชุมชน ล้วนต้องการน้ำในทุกภาคส่วนและเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเมือง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ประมาณการความต้องการใช้น้ำในปี พ.ศ. 2580 อยู่ที่ 3,089 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 650 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ในการศึกษาของโครงการฯ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย(Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่มีเป้าหมายลดการใช้น้ำลง 15% ในทุกภาคส่วน

“โจทย์ของ EEC ต่างกับโจทย์ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศค่อนข้างชัดเจน ซึ่งการใช้น้ำเกือบ 80% เป็นเรื่องภาคเกษตร แต่ EEC ไม่ใช่! เพราะพื้นที่ EEC มี 3 จังหวัด และมีสภาพการใช้น้ำแตกต่างกันอย่างมาก”

รศ.ดร.บัญชา กล่าวว่า จากการจำแนกการใช้น้ำในพื้นที่ EEC พบว่า “จังหวัดระยอง” มีการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 50% โดยพึ่งพาการใช้น้ำจากภาครัฐและบริษัทน้ำเอกชนค่อนข้างมาก หากไม่ลดการใช้น้ำลงต่อไปจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยองอย่างแน่นอน ส่วน “จังหวัดชลบุรี”ภาคการใช้น้ำหลักอยู่ที่ชุมชน นอกจากน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคยังรวมถึงกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม/ที่พักรีสอร์ท และการบริการอีกด้วย

รศ.ดร.บัญชา ยังให้ข้อสังเกตว่า ระยองแม้จะเป็นเมืองที่มีการอพยพโยกย้ายของแรงงานมาก แต่ประชากรจำนวนหนึ่งที่ทำงานในจังหวัดระยอง กลับเลือกพักอาศัยที่จังหวัดชลบุรี รวมถึงชาวต่างชาติ เนื่องจากใกล้แหล่งพักผ่อน และยังเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในอนาคตเมื่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินแล้วเสร็จ จะยิ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ทวีความหนาแน่นของประชากรยิ่งขึ้น

ขณะที่ “จังหวัดฉะเชิงเทรา” การใช้น้ำส่วนใหญ่มากกว่า 80% เป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร และเป็นเกษตรแบบไม่มีฤดูกาลมีการใช้น้ำตลอดทั้งปี ในปีแล้งจึงมีผลกระทบมาก ถือเป็นยาขมหม้อใหญ่ของการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมของฉะเชิงเทราส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำสำรองที่ดึงจากแม่น้ำบางปะกงมาเก็บไว้

หัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กล่าวว่า ในเบื้องต้นเพื่อให้เห็นความชัดเจนของการลดการใช้น้ำได้จริง การศึกษาวิจัยจึงเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะมองว่ามีความพร้อมมากสุดในการปรับตัว และการศึกษาที่ผ่านมายังไม่มีใครรู้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีน้ำต้นทุนที่ไหนบ้าง อย่างไร นอกจากตัวเลขการรับน้ำจากกรมชลประทาน และอีสท์วอเตอร์ ทำให้การศึกษาวิจัยนี้ จึงเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บข้อมูลต้นทุนน้ำทั้งหมด พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้าไปจับในกระบวนการผลิต เพื่อทราบว่าสุดท้ายแล้วจะลดการใช้น้ำอย่างไร”

รศ.ดร.บัญชา บอกอีกว่า แม้จะมีมาตรการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน กระนั้นก็ต้องพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลงแล้วในระดับหนึ่ง จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล คณะวิจัยได้สร้างความเข้าใจ พร้อมนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นที่ปรึกษา แนะนำกระบวนการลดการใช้น้ำให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบทั้ง 15 โรงงาน และอีก 2 นิคมอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมหลายแห่งมีการดำเนินการอยู่แล้วทั้งมาตรการประหยัดน้ำ มีแหล่งน้ำต้นทุนของตนเอง มีระบบบำบัดน้ำเสีย และนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่

“ปัจจัยที่เป็นตัวเร่ง คือภาคอุตสาหกรรมที่เคยผ่านวิกฤตเมื่อในปี พ.ศ. 2548 มีการปรับตัวไปมาก แต่บางส่วนที่ไม่เคยเจอวิกฤตก็ยังไม่ได้ปรับ เพราะในปี พ.ศ. 2558 ที่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ แต่ไม่ได้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกจึงยังไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากที่ได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเพื่อลดการใช้น้ำ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สำหรับผู้ที่เคยทำอยู่แล้วหลังนำงานวิจัยเข้าไปเสริมข้อมูลความรู้ให้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำได้มากขึ้นภายใน 6 เดือนเห็นผลแล้วว่าเราทำได้”

ขณะที่ภาคอุปโภคบริโภคยังไม่เคยเกิดผลกระทบ เช่นเดียวกับทางด้านภาคการท่องเที่ยว ในปี พ.ศ 2548 ยังไม่เติบโตมาก และจำนวนประชากรที่เคลื่อนย้ายเข้ามายังไม่มากนัก เช่น จังหวัดชลบุรีขณะนั้น มีประชากรไม่ถึง 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีประชากรกว่า 2.5 ล้านคน ส่วนการพัฒนาการท่องเที่ยวเติบโตมากกว่าปี พ.ศ. 2548 ถึงเท่าตัว

รศ.ดร. บัญชา กล่าวว่า “โจทย์คือ ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตมาก การท่องเที่ยวเติบโตมาก ภาคเกษตรกรรมเองก็มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะทุเรียน สร้างรายได้ดี ทำให้เกษตรกรจำนวนมากโค่นต้นยางหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก จึงมีความน่าเป็นห่วงว่าน้ำจะเพียงพออยู่อีกหรือไม่ วันนี้มาตรการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเรามอง ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรในเขต EEC จะมีไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ซึ่ง EEC ถือเป็นพื้นที่เดียวของประเทศไทยที่ปริมาณของประชากรจะเติบโตมากขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นล้านคน เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว”

วันนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีความน่าห่วงระดับปานกลางเพราะมีการปรับตัวและพัฒนาไปมาก และทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคตจะเป็นอุตสาหกรรมทันสมัยเน้นเทคโนโลยีนวัตกรรม สิ่งที่น่าห่วงคือ ความต้องการใช้น้ำของภาคบริการ ท่องเที่ยว และการอุปโภค-บริโภคของชุมชนของเมืองที่เติบโต ที่คาดว่าจะต้องการใช้น้ำมากพอ ๆ กับอุตสาหกรรม ดังนั้น หากไม่มีการเตรียมการที่ดี จะเป็นจุดตายของ EEC

นักวิจัย ชี้ จุดตาย EEC อยู่ที่ความตื่นตัวของภาคบริการและชุมชน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง