อก. เผย MPI เดือน ก.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 3.12 ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ ฟื้นตัว

พุธ ๒๖ สิงหาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๐๔
อก. เผย MPI เดือน ก.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 3.12 ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ ฟื้นตัว การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ชี้เป็นโอกาสดึงนักลงทุนมาไทย
อก. เผย MPI เดือน ก.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 3.12 ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ ฟื้นตัว

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2563 ขยายตัวร้อยละ 3.12 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ หลายอุตสาหกรรมหลักเริ่มทยอยกลับมาขยายตัว แม้สถานการณ์ต่างประเทศยังคงมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั่วโลก ชี้เป็นโอกาสดึงนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.12 โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกรกฎาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 56.01 จากเดิมที่ร้อยละ 55.07 อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.69 โดยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

“ในขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศที่มีทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศจีนได้ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง อุตสาหกรรมบางประเภทต้องขาดชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น จีน ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้รับผลอานิสงส์ โดยที่ประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านของแรงงานฝีมือและการควบคุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19ที่ดี สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะย้ายเข้ามาใหม่ได้ รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การเตรียมความพร้อมในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ทันที” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการแล้วเกือบทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาดัชนีการส่งสินค้าและดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีทิศทางเป็นไปตามสถานการณ์การผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และมีแนวโน้มติดลบน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะการหยุดผลิตในประเทศที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเปลี่ยนคำสั่งซื้อมายังไทย ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มปรับแผนการผลิตโดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์หลังจากที่ประเทศไทยมีการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดี

นายทองชัย กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหลักมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.70 อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.70 ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ได้เริ่มกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ร้อยละ 24.50 โดยตลาดในประเทศขยายตัวร้อยละ 2.30 หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกรกฎาคม ได้แก่

เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.96 เนื่องจากผู้ประกอบการได้เร่งผลิตเพื่อชดเชยในช่วงล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังกิจการร้านค้า ร้านอาหารและสถานบันเทิงกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง

ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 48.23 โดยในปีก่อนได้เกิดภัยแล้ง ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้อย ในขณะที่ปีนี้ฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติจึงมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.68 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.00 จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหลังจากคลายล็อกดาวน์ในประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.53 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและบริสุทธิ์ เนื่องจากสภาพอากาศฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้ปาล์มน้ำมันมีเปอร์เซ็นต์ดีและสกัดน้ำมันได้ปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน (ไบโอดีเซล) และการใช้น้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภคมีเพิ่มขึ้น

อก. เผย MPI เดือน ก.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 3.12 ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ ฟื้นตัว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud