สวรส. ถกบทเรียนวิจัยแก้วิกฤตโควิดกับการขับเคลื่อนนโยบาย สู่มาตรการลดช่องว่างสังคมไทย

พฤหัส ๐๓ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๓:๐๓
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการขับเคลื่อนงานวิจัยสำคัญที่ดำเนินการตอบสนองการแก้ปัญหาและรองรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งผลงานวิจัยและข้อเสนอต่างๆ ได้ถูกนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ในช่วงที่ผ่านมา และข้อเสนอจากงานวิจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้ในการออกแบบมาตรการทางสังคม ตลอดจนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงนำไปใช้ในการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับการระบาดของไวรัสโคโรนาในอนาคต ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
สวรส. ถกบทเรียนวิจัยแก้วิกฤตโควิดกับการขับเคลื่อนนโยบาย สู่มาตรการลดช่องว่างสังคมไทย

โดยในเวทีดังกล่าวได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยสำคัญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของ สวรส. ปีงบประมาณ 2563 ซึ่งได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ไปกว่า 30 โครงการ ด้วยงบประมาณ 103 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยพัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย โดย ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้แบบจำลองสถานการณ์เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามผลกระทบของนโยบายอย่างต่อเนื่อง และลดข้อจำกัดของการคิดแบบแยกส่วน โดยทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบในมุมมองต่างๆ ที่หลากหลาย การพัฒนาเกณฑ์ในการยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ภายใต้กลไกที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสังคม ชุมชน ตลอดจนพัฒนาทางเลือกเชิงนโยบายและทดสอบผลลัพธ์ของทางเลือกเพื่อเพิ่มสมรรถนะของระบบสุขภาพ เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในกรณีเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกสองในประเทศไทย รวมทั้งวางแผนรับมือกับวิกฤตโรคระบาดที่มีลักษณะคล้ายกันในอนาคต

งานวิจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยเส้นทางชีวิตและกิจกรรมร่วมของครัวเรือนภายใต้สถานการณ์โควิด 19 โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาพฤติกรรมกลุ่มคนในเขตเมือง กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มคนในชนบท และกลุ่มคนในเขตชายแดน ซึ่งพบว่าคนแต่ละกลุ่ม มีความพยายามปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในที่สาธารณะไม่แตกต่างกัน แต่มีความสามารถในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวในบ้านแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพ เศรษฐานะของแต่ละครอบครัว คนที่มีรายได้น้อยต้องยอมเสี่ยงต่อการติดโรค เนื่องจากมีความจำเป็นเรื่องการหารายได้ ดังนั้นมาตรการทางการคลังในการช่วยเหลือรายได้ของคนกลุ่มที่มีรายได้น้อย จึงมีความสำคัญต่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา และจากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่เห็นว่า หากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในระดับใด ควรล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่นั้นที่มีผู้ติดเชื้อ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ส่วนมาตรการต่างๆ ควรมีการสื่อสารให้ชัดเจนตั้งแต่แรกผ่านผู้มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อและพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น แม่ รวมถึงไม่สร้างความกังวลและความกลัว เพราะจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อถูกตีตราจากการรังเกียจของสังคม นอกจากนี้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มีค่อนข้างมาก เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคเริ่มคลี่คลาย ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจะยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจในระดับฐานรากจะเข้ามามีบทบาทต่อชุมชนมากขึ้น รวมถึงเรื่องอาหารสุขภาพและวัฒนธรรมชุมชน เนื่องจากคนส่วนหนึ่งจะต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นงานที่เหมาะสมและมีรายได้ที่เพียงพอจึงเป็นประเด็นพัฒนาที่สำคัญในระยะต่อไป

ส่วน ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงงานวิจัยการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย ซึ่งนักวิจัยได้มีข้อเสนอสำคัญ เช่น มาตรการด้านสาธารณสุขควรมีศักยภาพในการตรวจ Lab ให้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีห้อง Lab จำนวน 216 แห่งกระจายทั่วประเทศ และเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ต้องหาให้ได้ว่า ใครเป็นผู้สัมผัส ใครเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ และมีระบบ Home quarantine สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยให้มีการกักตัวอยู่ที่บ้าน, Local quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัด ให้กักตัวอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัด, State quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดพื้นที่กักตัวให้ และ Alternate state quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ยินยอมเสียค่าใช้จ่ายเอง ให้กักตัวในสถานที่ทางเลือกต่างๆ ส่วนด้านการรักษาพยาบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ควรให้สิทธิ์รักษาฟรีทั้งหมด และนอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยังเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยที่ช่วยในการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคได้เป็นอย่างดี และเนื่องจากวัคซีนป้องกันโรค เป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นวัคซีนทางสังคมจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการป้องกันโรคด้วยตนเอง เช่น การรักษาระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย การใช้ช้อนส่วนตัว การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ และหากมีการเปิดประเทศ ควรจัดทำระบบติดตามในรูปแบบของแอปพลิเคชัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้งานที่จังหวัดปัตตานี โดยความร่วมมือของบริษัท True ในชื่อว่า THAILAND-CARE ซึ่งพบว่า ระบบติดตามต้องทำงานควบคู่กับระบบปฏิบัติการที่มีการออกกฎข้อบังคับที่เข้มข้นและชัดเจน

นอกจากนี้ ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าวว่า นโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นำไปสู่การปฏิบัติ ต้องวางอยู่บนรากฐานองค์ความรู้และเหตุผลที่มาจากการสำรวจและศึกษาข้อมูลโดยการทำวิจัย ซึ่ง สวรส. เป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ในระบบสุขภาพ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ดังกล่าว ถือเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยในการรับมือสถานการณ์การระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปิดจุดอ่อนของระบบได้ เช่น เงื่อนไขการเปิดเมืองโดยพิจารณาถึงความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม การมีมาตรการรองรับเพื่อสกัดการระบาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจัดระบบให้เกิดความสมดุลระหว่างมาตรทางสาธารณสุขกับมาตรการทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมิใช่เงื่อนไขของการตั้งเป้าผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ แต่ยอมให้มีผู้ติดเชื้อได้จำนวนหนึ่ง โดยมีระบบการติดตามตัวผู้ติดเชื้อที่ชัดเจน และมีการดำเนินการเปิดเมืองเป็นขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง หรือเข้มงวดในเงื่อนไขต่างๆ โดยไม่ให้มีข้อยกเว้น เป็นต้น

นอกจากนั้น สวรส. ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยเด่นในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ในโซนนิทรรศการ จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ 1) รองเท้าเลเซอร์เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน 2) แอปพลิเคชันภาพถ่ายผิวหนัง ตัวช่วยคัดกรองภาวะการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากการรั่วของยาหรือสารน้ำ 3) เครื่องเป่าลมหายใจ ติดตามและเฝ้าระวังผู้ป่วยเบาหวาน 4) โถปัสสาวะเคลื่อนที่เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้ป่วยจิตเวชชาย 5) ชุดตรวจภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ 6) ชุดตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก และงานวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงระบบอีก 2 ผลงาน ได้แก่ 1) การวิจัยแบบจำลองนโยบายเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย 2) การประเมินผลโครงการรับยาที่ร้านยา รวมทั้งเวทีสร้างสีสันในประเด็นการพัฒนาระบบยาและการจัดซื้อยารวม ตลอดจนการเปิดตัวหนังสือ “ระบบยาของประเทศไทย 2563” ที่จัดทำขึ้นเพื่อการพัฒนาระบบยาของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สวรส. ถกบทเรียนวิจัยแก้วิกฤตโควิดกับการขับเคลื่อนนโยบาย สู่มาตรการลดช่องว่างสังคมไทย สวรส. ถกบทเรียนวิจัยแก้วิกฤตโควิดกับการขับเคลื่อนนโยบาย สู่มาตรการลดช่องว่างสังคมไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4