ม.มหิดล ปรับรูปแบบใหม่ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรปลอดภัย Covid-19 ด้วยนวัตกรรม hi-tech

จันทร์ ๐๕ ตุลาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๑๖
ม.มหิดล ปรับรูปแบบใหม่ พิธีพระราชทานปริญญาบัตรปลอดภัย Covid-19 ด้วยนวัตกรรม hi-tech

เนื่องด้วยทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทุกชีวิตบนโลกจึงไม่อาจเพิกเฉยต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการสัมผัสอันเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของบัณฑิตและญาติพี่น้อง

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2562 เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5 - 6 ตุลาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จ ฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2562 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พิธีในปีนี้ เพื่อการรักษาความปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing มหาวิทยาลัยมหิดลจึงอนุญาตให้เฉพาะบัณฑิตและเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในพิธีเข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และสแกน QR Code "ไทยชนะ" ก่อนเข้าพื้นที่

"บัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้มีประมาณ 6,000 ราย กำหนดให้เวียนเข้าหอประชุมใน 3 ช่วงเวลา ช่วงเวลาละประมาณ 2,000 ราย โดยมีการจัดให้บัณฑิตนั่งแบบที่เว้นที่สลับแบบฟันปลา และสวมหน้ากากอนามัยตลอดพิธี ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของบัณฑิตทุกคนที่ได้มีโอกาสแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลยังคงจัดพิธีที่มีการรักษาคุณค่าเดิมของการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แต่ปรับกระบวนการต่างๆ ตามมาตรการรักษาความปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing" รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธุ์ กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าศูนย์วิจัยทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BARTLAB) กล่าวเสริมว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย และ Social Distancing อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ บริเวณแท่นประทับ ซึ่งได้จัดทำแผงกั้นที่ทำจากอะคริลิคชนิดพิเศษ ที่มีความใส และทนทาน โดยออกแบบให้มีช่องสำหรับพระราชทานปริญญาบัตร และสามารถควบคุมให้เลื่อนขึ้น-ลงด้วยระบบไฟฟ้าจากระยะไกล ซึ่งเมื่อเสด็จฯ ประทับนั่ง แผงกั้นจะอยู่ในระดับต่ำ จนเมื่อเริ่มพิธีแผงกั้นจะเลื่อนขึ้น เพื่อให้พระองค์ได้พระราชทานปริญญาบัตรจากช่องที่ทำไว้ กระทั่งพระราชทานจนครบจำนวนแล้ว แผงกั้นจะเลื่อนลงอีกครั้งเมื่อทรงยืนขึ้นเพื่อทรงมีพระบรมราโชวาท

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า ผู้ออกแบบและทีมงานได้ใส่ใจในทุกรายละเอียด ให้ระบบมีการขับเคลื่อนด้วยความเสถียรมากที่สุด โดยได้จัดเตรียมชุดสำรองไฟไว้ถึง 3 ชุด และมีการทดสอบไฟฟ้าสถิตย์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพิธี นอกจากนี้ได้มีการนำหุ่นยนต์ UVY และตู้อบฆ่าเชื้อ (Germ Buster) ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพระที่นั่ง และปกปริญญาบัตรอีกด้วย

อาจารย์ ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ทางภาควิชาฯ ได้ใช้ตู้อบฆ่าเชื้อขนาดใหญ่ จำนวน 2 ตู้ในการฆ่าเชื้อปกปริญญาบัตร ซึ่งแต่ละตู้ใช้รังสี UVC ซึ่งมีความยาวคลื่น 200 - 280 นาโนเมตร ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงไวรัสบนพื้นผิวได้อย่างสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 20 วินาที ซึ่ง 1 ตู้สามารถใส่ปกปริญญาบัตรเพื่อฆ่าเชื้อได้ครั้งละ 10 ใบ โดยในปีนี้ได้ทำการอบฆ่าเชื้อปกปริญญาบัตรเตรียมพร้อมไว้ก่อนพิธี แต่ในอนาคตจะพัฒนาให้มีรูปแบบที่สามารถฆ่าเชื้อให้พร้อมใช้ได้ทันที ณ บริเวณพิธี    

สำหรับในส่วนของการฆ่าเชื้อ ณ บริเวณที่ประทับ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำหุ่นยนต์ UVY ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรล่าสุด โดยสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยระบบ AGV พร้อมแขนกล (COBOT) ที่ฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC โดยความโดดเด่นของหุ่นยนต์ UVY นั้นประกอบด้วย  1) สามารถจดจำเส้นทางได้จากการสอน 2) สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางของสถานีทำความสะอาดได้อย่างยืดหยุ่น 3) สามารถปรับแต่งเส้นทางผ่านระบบ IoTs 4)  สามารถแผ่งรังสี UVC ที่มีความเข้มสูงในการฆ่าเชื้อลงสู่พื้นผิวได้ 5) สามารถจดจำขั้นตอนการทำงานในแต่ละสถานีที่ต้องการฆ่าเชื้อได้ โดยเคยได้มีการทดลองใช้อย่างได้ผลในโรงพยาบาลในช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมา    

ซึ่งกระบวนการฆ่าเชื้อที่นำมาใช้สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาในปีนี้ เชื่อมั่นได้ถึงความปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง