ดัชนีก่อการร้ายโลกปี 2563 เผยยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายต่ำสุดในรอบห้าปี แต่มีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้น

พุธ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๐๒๐ ๑๓:๑๐

- ยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั่วโลกลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ห้าในปี 2562 สู่ระดับ 13,826 ราย ลดลง 15% จากปีก่อนหน้า
- ในอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และโอเชียเนีย การก่อการร้ายโดยกลุ่มขวาจัดพุ่งขึ้น 250% จากปี 2557 แตะระดับสูงสุดในรอบ 50 ปี
- ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายอย่างน้อยหนึ่งรายมีอยู่ 63 ประเทศ ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556
- ผลกระทบของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่า 1.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ลดลง 25% จากปีก่อนหน้า
- ศูนย์กลางการโจมตีของกลุ่ม ISIL ย้ายไปอยู่ที่ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา โดยยอดผู้เสียชีวิตจากฝีมือของ ISIL ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น 67%
- ISIL และกลุ่มก่อการร้ายในเครือข่าย ก่อเหตุโจมตีใน 27 ประเทศในปี 2562

ดัชนีก่อการร้ายโลก (Global Terrorism Index: GTI) ประจำปี 2563 เผยให้เห็นว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน โดยลดลง 59% จากระดับสูงสุดในปี 2557 แตะที่ 13,826 ราย ขณะที่ความขัดแย้งยังคงเป็นสาเหตุหลักของการก่อการร้าย โดยกว่า 96% ของการเสียชีวิตจากการก่อการร้ายในปี 2562 เกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute of Economics and Peace: IEP) ได้จัดทำดัชนีก่อการร้ายโลกเป็นปีที่ 8 เพื่อให้ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับแนวโน้มการก่อการร้ายทั่วโลก

ยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงมากที่สุดในอัฟกานิสถานและไนจีเรีย แต่ยังคงเป็นเพียงสองประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเกิน 1,000 ราย ขณะเดียวกัน การลดลงของยอดผู้เสียชีวิตยังส่งผลต่อคะแนนของประเทศต่าง ๆ โดยมี 103 ประเทศที่คะแนนดีขึ้น ขณะที่ 35 ประเทศคะแนนแย่ลง นับว่ามีประเทศที่คะแนนดีขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนี

แม้ว่าผลกระทบจากการก่อการร้ายทั่วโลกจะลดลงในภาพรวม แต่ก็ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงในหลายประเทศ โดย 63 ประเทศมีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายอย่างน้อยหนึ่งรายในปี 2562 และการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นสูงสุดในประเทศบูร์กินาฟาโซ โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้น 590% และมีอีกหลายประเทศที่สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมาก ได้แก่ ศรีลังกา โมซัมบิก มาลี และไนเจอร์

ข้อค้นพบสำคัญอื่น ๆ

- 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด ได้แก่ อัฟกานิสถาน อิรัก ไนจีเรีย ซีเรีย โซมาเลีย เยเมน ปากีสถาน อินเดีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และฟิลิปปินส์
- เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่สอง ขณะที่ภูมิภาคอเมริกากลางและแคริบเบียนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
- ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่สถานการณ์การก่อการร้ายดีขึ้นมากที่สุดเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยมียอดผู้เสียชีวิตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546

สตีฟ คิลเลเลีย ประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า "ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ เราได้เห็นภัยคุกคามใหม่ ๆ จากการก่อการร้าย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การขยายอิทธิพลของกลุ่มขวาจัดในโลกตะวันตก และสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในพื้นที่ซาเฮล นอกจากนี้ การโจมตีล่าสุดในฝรั่งเศสและออสเตรียยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มขนาดเล็กที่ยึดถือหลักการของ ISIL ยังคงสร้างสถานการณ์อยู่ เพื่อยุติอิทธิพลของกลุ่มก่อการร้าย เราจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการสำคัญสามประการ ได้แก่ การทลายสื่อและเครือข่ายสังคมออนไลน์ของกลุ่มก่อการร้าย การขัดขวางการให้ทุนแก่กลุ่มก่อการร้าย และการลดจำนวนผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย"

ดัชนีก่อการร้ายโลกคำนวณคะแนนจากหลายปัจจัย ได้แก่ จำนวนครั้งที่เกิดการก่อการร้าย จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บ และความเสียหายของทรัพย์สิน โดยกลุ่มตาลีบันยังคงเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในปี 2562 แต่ยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุของกลุ่มนี้ลดลง 18% ขณะเดียวกัน ความแข็งแกร่งและอิทธิพลของกลุ่ม ISIL ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับเป็นปีแรกที่ผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุของกลุ่มนี้มีไม่ถึง 1,000 ราย

แม้ว่ากลุ่ม ISIL เคลื่อนไหวน้อยลงในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แต่กลุ่มก่อการร้ายในเครือข่าย ISIL ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ทั่วโลก โดยมี 27 ประเทศที่ถูกกลุ่ม ISIL หรือกลุ่มก่อการร้ายในเครือข่ายโจมตี และภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราโดนโจมตีมากที่สุด เห็นได้จากการที่ 7 ใน 10 ประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด เป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ และกลุ่มก่อการร้ายในเครือข่าย ISIL ก็อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นดังกล่าว โดย 41% ของการเสียชีวิตทั้งหมดจากฝีมือของ ISIL เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา

สำหรับภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และโอเชียเนีย ภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายขวาจัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดห้าปีที่ผ่านมา โดยการก่อการร้ายของกลุ่มขวาจัดพุ่งขึ้น 250% ในช่วงปี 2557-2562 และมีผู้เสียชีวิต 89 รายจากฝีมือของกลุ่มขวาจัดในปี 2562 นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความยืดหยุ่นทางสังคมได้ลดน้อยถอยลงในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ต่อไปด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากโควิด-19 ซึ่งจะเพิ่มความไร้เสถียรภาพและความรุนแรงทางการเมือง

นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าโรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ข้อมูลเบื้องต้นก็บ่งชี้ว่าการก่อการร้ายและยอดผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงในเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 กลับกลายเป็นความท้าทายใหม่ในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยทั่วโลกต้องสร้างความมั่นใจว่า การต่อต้านการก่อการร้ายจะไม่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณของรัฐที่ลดลงอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะการลดความช่วยเหลือในการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือและภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราอาจส่งผลเสียได้

โทมัส มอร์แกน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ อธิบายว่า "ระหว่างปี 2554-2562 การจลาจลและความรุนแรงในโลกตะวันตกเพิ่มขึ้น 277% และมีความกังวลอย่างมากว่าสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงจะทำให้ผู้คนจำนวนมากแยกตัวจากสังคมและตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มหัวรุนแรง"

การก่อการร้ายที่ลดลงทำให้ผลกระทบของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลดลงตามไปด้วย โดยคิดเป็นมูลค่า 1.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ลดลง 25% จากปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่เกิดจากการก่อการร้ายมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่เกิดจากความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ฆาตกรรม ความขัดแย้งทางอาวุธ และปฏิบัติการทางทหาร โดยมีต้นทุนราว 14.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกน่าจะสูงกว่านี้มาก เพราะตัวเลขนี้ยังไม่รวมผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อธุรกิจ การลงทุน และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยและต่อต้านการก่อการร้าย

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

ดูรายงานฉบับเต็มและแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟได้ที่ visionofhumanity.org หรือ economicsandpeace.org

กรุณาติดตาม @GlobPeaceIndex

กรุณากดไลก์ facebook.com/globalpeaceindex

ดัชนีก่อการร้ายโลก

ดัชนีก่อการร้ายโลก (GTI) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) ให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวโน้มและรูปแบบของการก่อการร้ายทั่วโลกตลอด 18 ปีที่ผ่านมา รายงานนี้จัดอันดับ 163 ประเทศ (99.7% ของประชากรโลก) ตามผลกระทบที่ได้รับจากการก่อการร้าย โดยพิจารณาจากจำนวนครั้งที่เกิดการก่อการร้าย จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บ และความเสียหายของทรัพย์สิน

ฐานข้อมูลก่อการร้ายโลก

ดัชนีก่อการร้ายโลกใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลก่อการร้ายโลก (Global Terrorism Database: GTD) ของกลุ่มความร่วมมือเพื่อศึกษาการก่อการร้ายและตอบสนองต่อการก่อการร้าย (START) ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ โดยเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลกที่ครอบคลุมที่สุด

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองชั้นนำระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์สันติภาพและคุณค่าที่มีต่อเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาดัชนีระดับชาติและระดับโลกหลายดัชนี เช่น ดัชนีสันติภาพโลก เพื่อคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความรุนแรง และทำความเข้าใจผลเชิงบวกของสันติภาพ ซึ่งเป็นทัศนคติ ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงรากฐานในการสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง