เอสซีบี อบาคัส ชี้พันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมการเงินอนาคต

อังคาร ๐๑ ธันวาคม ๒๐๒๐ ๑๐:๓๑

ซีอีโอ เอสซีบี อบาคัส ให้มุมมองอนาคตของนวัตกรรมธุรกิจการเงิน ในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านฟอรั่มระดับโลกระบุการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในภาคการเงินจะเกิดได้ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม เล็งผนึกกำลังกับสถาบันการเงินอื่นๆ และอ้าแขนรับนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Investors) เพื่อการขยายธุรกิจทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังประสบความสำเร็จกับแอปพลิเคชัน "เงินทันเด้อ" ด้วยระยะเวลาอนุมัติสินเชื่อภายใน 15 นาที หนุนธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่ออย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด (SCB Abacus) ให้มุมมองงาน "Nikkei Global Management Forum" ครั้งที่ 22 ในหัวข้อ อนาคตของนวัตกรรมธุรกิจการเงินในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 ว่า การระบาดของโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายเรื่อง ซึ่งส่งผลให้บริษัท รวมถึงสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อปกติ และผู้ให้บริการสินเชื่อบนระบบดิจิทัล มีความระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะตระหนักดีว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด อย่างไรก็ดี เอสซีบี อบาคัส เล็งเห็นโอกาสจากผลกระทบเชิงบวกที่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีการปรับตัวในช่วงวิกฤตโดยมีการพึ่งพาช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้แพลตฟอร์มบริการสินเชื่อดิจิทัลเต็มรูปแบบของบริษัท เอสซีบี อบาคัส ซึ่งเป็นรายแรกของประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ สามารถให้บริการกลุ่มเป้าหมายองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแบบปกติได้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ที่ผู้เล่นแบบเดิมๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ในไทย ท่ามกลางกระแสท้าทายที่หลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญในรอบกว่าทศวรรษนั่นคือการแพร่ระบาดของโควิด -19

"ธุรกิจฟินเทคเติบโตรวดเร็ว และมีเป้าหมายในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้สร้างประโยชน์กับเจ้าของข้อมูลเอง โดยเฉพาะเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้เร็ว ง่าย และเป็นธรรม หลายคนถูกปฏิเสธเงินกู้จากธนาคาร เพราะเป็นผู้ทำงานอิสระหรือทำธุรกิจส่วนตัว ไม่มีสลิปเงินเดือนหรือหลักฐานที่ธนาคารต้องการ แต่คนกลุ่มนี้มีรายได้และความสามารถในการจ่ายเงิน บริษัท เอสซีบี อบาคัส จึงได้ริเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชัน "เงินทันเด้อ" เพื่อนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาพิจารณาให้สินเชื่อโดยใช้ข้อมูลทางเลือกเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้"

จากผลสำรวจล่าสุดของ World Economic Forum และ Sea group ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการแก่ผู้บริโภคทางอินเตอร์เน็ตในสิงคโปร์พบว่า เอสเอ็มอีมีแนวโน้มที่จะใช้เงินออมของครอบครัวหรือของตนเองแทนที่จะขอแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกำลังเป็นโอกาสของฟินเทครวมถึงเอสซีบี อบาคัส ที่ใช้เทคโนโลยี AI และกระบวนการพิจารณาให้สินเชื่อในรูปแบบใหม่ที่ต่างจากสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

โดยปกติ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการสมัครขอสินเชื่อจากธนาคาร จะต้องมีผลการดำเนินงานมาแล้ว 3-4 ปีเพื่อให้ธนาคารทราบถึงกระบวนการจัดการ ตลอดจนแผนธุรกิจ เพื่อนำมาวิเคราะห์เครดิต ขณะที่ เอสซีบี อบาคัส วิเคราะห์ข้อมูลทางเลือกที่มาจากคู่ค้าด้านการขนส่ง การค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ และโทรคมนาคม ตลอดจนข้อมูลทางเลือกอื่นๆ เข้าสู่อัลกอริทึมเพื่อพิจารณาสินเชื่อให้กับลูกค้าได้ภายใน 15 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดในวงการสินเชื่อดิจิทัลของประเทศไทย

"เราพบว่าเอสเอ็มอีมองการบริการสินเชื่อที่รวดเร็วและสะดวกเป็นเรื่องสำคัญกว่าดอกเบี้ย เราเองตระหนักว่าตลาดกลุ่มนี้ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ที่เทคโนโลยีสามารถเข้าไปมีส่วนช่วย ซึ่งเอสซีบี อบาคัส โชคดีที่ได้เริ่มให้บริการก่อนที่วิกฤตโควิด-19 จะเกิดขึ้น จึงทำให้แอปพลิเคชันเงินทันเด้อ ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากลูกค้า"

ดร.สุทธาภา กล่าวทิ้งท้ายว่า เทคโนโลยี AI ในธุรกิจการเงินในอนาคตจะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม (cross-industry partnership) ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทได้จับมือกับพันธมิตรจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เทเลคอม และบริษัทขนส่งเพื่อร่วมกันสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่ทั่วถึงและเป็นธรรมให้กับลูกค้า และยังสามารถนำเทคโนโลยี credit scoring และ fraud detection ที่ทางบริษัทพัฒนาไปต่อยอดในธุรกิจอื่น ๆ ของ partner ได้อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังเปิดโอกาสทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ รวมทั้งมองหานักลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Investors) ที่มีความพร้อมในเรื่องเครือข่ายและเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจของเอสซีบี อบาคัส ได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ดร.สุทธาภา เป็นผู้บริหารจากภาคการเงินของประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีวิทยากรชื่อดังและผู้บริหารชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของธุรกิจในโลกที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงในวิกฤตโควิด-19 ในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยในงาน Nikkei Global Management Forum ปีนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกภายใต้วิกฤตโควิด-19 ในหลายหัวข้อ อาทิ กลยุทธ์ธุรกิจท่ามกลางความผันผวน บทบาทของเทคโนโลยีในธุรกิจต่าง ๆ รวมถึง การปรับรูปแบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยและการบริหารทักษะคนในองค์กร โดยมีมีกลุ่มผู้ฟังได้แก่ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงมากมายจากทั้งภาคธุรกิจ องค์กรระหว่างประเทศ สื่อสารมวลชน และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน