สวทช. หนุนผู้ประกอบการไม้ยางพาราไทยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียไม้

พุธ ๒๔ พฤษภาคม ๒๐๐๖ ๐๙:๔๖
กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สวทช.
บ. บีเอ็นเอส อุตสาหกรรมไม้ จำกัด รับมือภาวะไม้ยางพาราขาดแคลน หลังราคาน้ำยางดิบพุ่ง ‘พัฒนาเทคนิคและประสิทธิภาพการผลิต’ เพื่อการนำไม้มาใช้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียไม้ ภายใต้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. จัดหาผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าให้คำแนะนำเทคนิคการผลิต และจัดฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีให้กับพนักงานจนชำนาญ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้บริษัทฯ ลดต้นทุนในเบื้องต้นได้ไม่น้อยกว่า 10%
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ไม้ยางพารานอกจากจะนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์แล้ว ยังนำมาใช้ทำวัสดุก่อสร้าง อาทิ ไม้ปูพื้น หรือ ผนัง เป็นต้น ทำให้ความต้องการไม้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ไม้ยางพาราเริ่มไม่เพียงพอ เนื่องจากราคาน้ำยางดิบที่แพงขึ้น และจะตัดไม้ได้เมื่อมีอายุ 25-30 ปี แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งปลูกไม้ยางพารามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกก็ตาม
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการอย่าง บ.บีเอ็นเอส อุตสาหกรรมไม้ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกไม้ปาร์เก้ ไม้ปูพื้นอัดประสานไม้ยางพารา และชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ ในฐานะผู้ประกอบการปลายน้ำ จำเป็นต้องเร่งพัฒนา รูปแบบ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นมาใช้ เพื่อควบคุมการใช้ไม้ยางพาราให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ภายใต้การสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ ‘พัฒนาเทคนิคและประสิทธิภาพการผลิต’ ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและก่อให้เกิดการใช้ไม้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
นาย อัครินทร์ วงศ์อภิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บ.บีเอ็นเอส อุตสาหกรรมไม้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 จากธุรกิจครอบครัวที่เริ่มจากการเป็นเทรดดิ้ง เมื่อไม้เริ่มหายากขึ้น จึงหันมาจับไม้ยางพาราผลิตไม้ปูพื้นและชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ แต่ปัจจุบันบริษัทฯ เน้นผลิตไม้ปูพื้นสำเร็จรูปจากไม้ยางพารา หรือที่เรียกว่า Solid Wood โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเน้นผลิตและส่งออก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น , ตลาดยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพราะความเชื่อมั่นในมาตรฐานและคุณภาพที่บริษัทฯให้ความสำคัญจนได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2000 ซึ่งในแต่ละเดือนมียอดส่งออกถึง 30 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ คิดเป็นประมาณ 5 หมื่นตารางเมตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมขยายตลาดออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง เนื่องจากมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวคิดในการพัฒนาเทคนิคและประสิทธิภาพการผลิตนั้น นายอัครินทร์ กล่าวว่า “ เนื่องจากสถานการณ์ไม้ของไทยเริ่มวิกฤติ ประกอบกับปัญหาที่พบทั่วไป ต้องเข้าใจว่าไม้เป็นวัสดุธรรมชาติ ฉะนั้นไม้แต่ละท่อนย่อมแตกต่างกันทั้งในเรื่องของการตำนิ ขนาด และความชื้น ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ไม้นั้นบิดเบี้ยว โก้ง หรือ งอ ทำให้ต้องตัดไม้ในส่วนนั้นทิ้งกลายเป็นเศษไม้ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งผู้ผลิตไม้ในฐานะอุตสาหกรรมปลายน้ำ ต้องหันมาคำนึงว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถนำไม้มาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด จากเดิมที่ต้องซื้อไม้เข้ามาเป็นจำนวนมากแต่ผลิตได้โปรดักส์ออกมาเพียงร้อยละ50 หรือน้อยกว่านั้น ให้สามารถผลิตเป็นโปรดักส์ได้มากขึ้น เพื่อลดการสูญเสียไม้ในยามที่ไม้เริ่มหายากขึ้นเพราะเราต้องใช้ไม้ทุกวัน ”
หลังจากที่โครงการ ITAP ของสวทช. ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต อาทิ เทคนิคการเลื่อยไม้ , การไสไม้ , การต่อและการประสานไม้ เพื่อก่อให้ก่อให้เกิดการใช้ไม้ได้อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ ยังได้แนะนำเทคนิคในการใช้เครื่องจักรตลอดจนการบำรุงรักษาเครื่องจักร , การจัดฝึกอบรมเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับบุคลากรของบริษัทฯ ทำให้พนักงานมีความรู้ เกิดความใส่ใจขั้นตอนต่างๆมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และยังได้แนะนำเทคนิคต่างๆในการลดปริมาณของฝุ่นในโรงงานอีกด้วย
นายอัครินทร์ กล่าวว่า “ ผลที่ได้หลังการปรับปรุงกระบวนการผลิตตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญแล้ว ถือว่าเป็นที่พึงพอใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้กระบวนการผลิตมีความคล่องตัวดีขึ้นแล้ว ยังนำไม้มาใช้อย่างคุ้มค่าผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ลดการสูญเสียไม้ลง จนแทบไม่เหลือของเสียอีกเลยหรือน้อยมาก และได้ผลผลิตที่ดีขึ้นด้วย ถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างหนึ่ง ขณะนี้ผลประกอบการของบริษัทฯ เริ่มขยายตัวในทางที่ดีขึ้น คาดว่า จะมียอดขายที่สูงขึ้นได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ”
สำหรับจุดเด่นของไม้ปูพื้นยางพาราที่แตกต่างจากไม้ชนิดอื่น คือ มีราคาที่ถูกกว่าไม้ปูพื้นที่เป็นไม้จริงชนิดอื่น ๆ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศว่าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า ประกอบกับโทนสีของเนื้อไม้ยางพาราที่ออกสีขาว-เหลือง ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น และยังสามารถย้อมสีได้ตามที่ต้องการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทฯ ได้ผลิตขึ้นมีความหลากหลายเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับตลาด เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า อาทิ ไม้ปูพื้นยางพาราสีไม้สัก หรือ ไม้ปูพื้นยางพาราสีไม้ประดู่ หรือ จะเป็นการย้อมสีของไม้ต่างประเทศชนิดอื่นๆ เช่น เมเปิ้ล , เชอร์รี่ , โอ๊ค หรือ บีช เป็นต้น โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 600 บาท ต่อ ตร.ม. ถือเป็นราคาที่ไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ไม้จริงชนิดอื่น และเป็นราคาในระดับที่บริษัทสามารถแข่งขันได้
นายอัครินทร์ ยังได้ฝากถึงผู้ประกอบการไม้ยางพาราแปรรูปว่า ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่แปรรูปไม้ยางพาราป้อนอุตสาหกรรมปลายน้ำ ควรคำนึงถึงระบบมาตรฐาน Best Practice ของไม้ยางพาราแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการปลายน้ำมีความมั่นใจในคุณภาพการผลิตไม้แปรรูปก่อนที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการลดของเสียลงตั้งแต่ต้นน้ำด้วย ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการดีต่อผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางพาราเอง ทั้งการลดต้นทุนของโรงงานและการสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในอุตสาหกรรมไม้ยาพาราไทย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
(สื่อมวลชนที่สนใจข้อมูล-ภาพเพิ่มเติมติดต่อได้ที่คุณนก ,คุณเกด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP โทร.0-2619-6187,8)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ พ.ค. เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๒๑ พ.ค. HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๒๑ พ.ค. กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๒๑ พ.ค. Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒๑ พ.ค. AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๒๑ พ.ค. KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๒๑ พ.ค. ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๒๑ พ.ค. โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๒๑ พ.ค. ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๒๑ พ.ค. W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส