ผุดโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีนภายใต้มาตรฐาน GMP

พุธ ๒๕ ตุลาคม ๒๐๐๖ ๑๗:๔๘
กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ศลชท.
ผุดโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) สำหรับผลิตวัคซีนภายใต้มาตรฐาน GMP เป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรมด้านวัคซีนสู่อุตสาหกรรมและนำประเทศเข้าสู่การแข่งขันด้าน Biotechnology ในระดับสากล
นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า TCELS ได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตวัคซีนระดับก่อนอุตสาหกรรม (Pilot plant) เพื่อรองรับงานพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ ๆ ที่เป็นความต้องการของประเทศ ขณะนี้มีวัคซีนหลายชนิดที่ผ่านการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการทดลองและมีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรม แต่ยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะประเทศไทยยังไม่มีโรงงานวัคซีนต้นแบบที่ได้มาตรฐาน GMP สำหรับการผลิตและนำวัคซีนนั้น ไปตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในอาสาสมัคร TCELS พิจารณาแล้วว่าการตัดสินใจผลักดันให้มีโครงการจัดตั้งโรงงานดังกล่าวโดยเร็ว จะเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของประเทศทางด้าน Biotechnology
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงงานนั้น จะใช้ที่ศูนย์พัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พื้นที่ขนาด 600 ตารางเมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบปรับปรุงอาคาร โดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศออกแบบห้องปลอดเชื้อตามขบวนการผลิต จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ พร้อมติดตั้ง และขั้นตอนสุดท้ายคือทดสอบระบบและประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 2 ปี ในวงเงินประมาณ 32,941,000 บาท ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จประเทศไทยจะมีโรงงานวัคซีนสำหรับรองรับ การต่อยอดงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทย ทำให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์และส่งผลดีทั้งทางด้านสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
น.พ.ดร. สุธี ยกส้าน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสนับสนุนว่า โครงการจัดตั้งโรงงานวัคซีนต้นแบบมาตรฐาน GMP เปรียบเสมือนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายวิจัยและฝ่ายอุตสาหกรรม ทำให้งานวิจัยสามารถมีทางออกไปสู่การพัฒนาการผลิตระดับอุตสาหกรรม ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำผลงานวิจัยไปผลิตในปริมาณที่เหมาะสมที่เพียงพอต่อการใช้ทดสอบในอาสาสมัคร เมื่อทราบผลการประเมินเป็นที่ชัดเจนแล้ว สามารถนำขบวนการผลิตจากโรงงานต้นแบบไปต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมได้โดยตรง ขณะนี้มีการพัฒนาวัคซีนหลายชนิดในประเทศไทย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ อาทิ วัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อตายได้จากเซลล์เพาะเลี้ยง วัคซีนไข้เลือดออกชนิดเชื้อเป็นที่ปรับเปลี่ยนพันธุกรรม วัคซีนรวมชนิดคอตีบ ไอกรน บาดทะยักและตับอักเสบ บี เป็นต้น ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาวัคซีน ยังกล่าวต่อไปว่า โดยภาพรวมโรงงานวัคซีนต้นแบบจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยของไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.)
โทร. 02 644-5499 โทรสาร: 02 2644 958
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๓๒ วิศวะมหิดล สร้างสรรค์ จดจำ อุปกรณ์จดบันทึกเพื่อน้องในโลกมืดและผู้พิการทางสายตา
๑๗:๒๑ เทศกาลกินเจที่ห้องอาหารเดอะ กลาส เฮ้าส์
๑๗:๑๔ ZOJIRUSHI เปิดช็อปใหม่พิกัด เซ็นทรัลเวิลด์ ชูสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวทันสมัยสไตล์โมเดิร์น
๑๗:๔๘ คณะบัญชี SPU ร่วมแสดงความยินดีกับ นายกสภาวิชาชีพบัญชีและคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี วาระปี พ.ศ. 2566 - 2569
๑๗:๒๖ ELECTRIC NEON LAMP ขนเพลงฮิตสุดเดือดใส่ไม่มียั้ง!! คอนเสิร์ต TURN THE LIGHT ON มันจ้าซะเหลือเกิน แฟน ๆ
๑๗:๐๗ ไพน์-แปซิฟิก โชว์ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ในงานมหกรรม wire Tube - GIFA METEC Southeast Asia 2023
๑๗:๔๒ Lenovo นำเสนอเทคโนโลยีและสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อก้าวไปสู่ยุคใหม่ของการศึกษา
๑๗:๔๒ ศศินทร์ มอบรางวัลอาจารย์ผู้สอนดีเลิศ ประจำปี 2566
๑๗:๕๗ TikTok จุดประกายแนวคิดใช้ชีวิตแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มเยาวชนไทย ร่วมมือพันธมิตรเปิดโครงการ REact For Change
๑๗:๑๔ SRS หุ้นน้องใหม่ที่นักลงทุนเชื่อมั่น จองซื้อหุ้น IPO หมดเกลี้ยง เดินหน้าเทรด mai 10 ต.ค.นี้ ด้านผู้ถือหุ้นเดิมพร้อมใจ Lock up หุ้น