PwC แนะธุรกิจพลังงานไทยปรับกลยุทธ์สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หลังโควิด-19 กระตุ้นทั่วโลกเดินหน้าสู่การลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ศุกร์ ๐๙ เมษายน ๒๐๒๑ ๑๗:๑๖
PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจพลังงานไทยนำหลักการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ชี้สามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ธุรกิจได้ถึงปีละ 10 ล้านบาท พร้อมคาดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระตุ้นให้ทั่วโลกเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์และส่งผลให้แนวโน้มการใช้พลังงานฟอสซิลลดลง

นางสาว อมรรัตน์ เพิ่มพูนวัฒนาสุข หัวหน้าสายงานธุรกิจพลังงาน และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายจากผลกระทบของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกเร่งตัวขึ้นหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ ลักษณะของตลาด และรูปแบบธุรกิจของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป รวมถึงกระแสการร่วมมือกันทางด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและองค์กรธุรกิจชั้นนำทั่วโลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สุทธิ (Net Zero emissions) ภายในปี 2593 ตามปณิธานขององค์การสหประชาชาติ[1]

"การมุ่งสู่นโยบาย Net Zero ของทั่วโลกจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลประเภทน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่ถือเป็นตัวการหนึ่งในการทำลายภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะส่งผลให้ขนาดของตลาดเชื้อเพลิงเหล่านี้หดตัวลง ขณะที่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานที่เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะสามารถนำทรัพยากรมาใช้หมุนเวียนได้ไม่จำกัดและส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เราคาดว่า ในอนาคตจะเห็นผู้ประกอบการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพของธุรกิจ รวมทั้งลดความเสี่ยงจากแนวโน้มการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้งานที่จะลดลงเรื่อย ๆ" นางสาว อมรรัตน์  กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ขณะที่สหภาพยุโรป ได้ประกาศแผนนโยบาย ข้อตกลงยุโรปสีเขียว[2] (European Green Deal) เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นเช่นกัน

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจชั้นนำทั่วโลกกว่า 400 แห่งรวมทั้ง PwC ยังได้ร่วมลงนามในโครงการรณรงค์ "Business Ambition for 1.5?C - Our Only Future" ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันจำกัดอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593[3]

อุตสาหกรรมพลังงาน กับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

นางสาว อมรรัตน์ กล่าวว่า การตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทุกอุตสาหกรรมปรับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และปลดปล่อยของเสียออกมาให้น้อยที่สุด ซึ่งแนวคิดดังกล่าว จะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานฯ ต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรตั้งแต่กระบวนการผลิตและการจัดการวัตถุดิบ ไปจนถึงการนำหลักการหมุนเวียนพลังงานและทรัพยากรมาใช้เพื่อหาตลาดและธุรกิจใหม่ ๆ เช่น การผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยขยะ

รายงาน Taking on tomorrow: The rise of circularity in energy, utilities and resources ของ PwC[4] ได้แนะนำ 6 แนวทางในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งประกอบไปด้วย (1) การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น  (2) เพิ่มการรีไซเคิล (3) ลดการสูญเสียทรัพยากร (4) ริเริ่มการเป็นผู้นำระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน (5) สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเป็นพันธมิตรห่วงโซ่อุปทาน และ (6) ทบทวนรูปแบบธุรกิจ

นางสาว อมรรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการที่ไทยได้เข้าร่วมในความตกลงปารีส[5] และกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 ในสาขาพลังงาน การคมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานของไทย ต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อมุ่งไปสู่การใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผลประกอบการและสร้างความเชื่อมั่นจากลูกค้า คู่ค้า ชุมชน นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่หันมาคำนึงถึงการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มากขึ้น

นอกจากนี้ การสร้างรายได้จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ลดลงได้ด้วยการขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทอื่น กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มธุรกิจพลังงานของไทยเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่เริ่มขายคาร์บอนเครดิตโดยผ่านนายหน้า และสามารถสร้างรายได้กลับคืนมาสู่ธุรกิจได้ถึงปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งหากผนวกแนวทางนี้ เข้ากับการปรับเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนก็จะยิ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มคุณค่าให้กับการดำเนินงานและหาช่องทางทำรายได้ใหม่ ๆ ได้อีกทางหนึ่ง นางสาว อมรรัตน์ กล่าว

"ธุรกิจพลังงานควรกลับมาทบทวนโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างต้นทุนอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น รวมถึงพิจารณาด้วยว่า จะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างไร ผู้ประกอบการควรใช้บทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการหาแนวทางในการทำธุรกิจให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อสร้างความยั่งยืนและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว" นางสาว อมรรัตน์ กล่าว

[1] The race to zero emissions, and why the world depends on it, องค์การสหประชาชาติ

[2] A European Green Deal, คณะกรรมาธิการยุโรป

[3] Business Leaders Taking Action, United Nations Global Impact

[4] Taking on tomorrow: The rise of circularity in energy, utilities and resources, PwC

[5] ความตกลงปารีส: ก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ที่มา: PwC ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง