กสร. เคลียร์ชัด ลูกจ้างลาป่วยไม่ถึง 3 วัน ไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ได้

พฤหัส ๒๒ เมษายน ๒๐๒๑ ๐๙:๓๖
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงประเด็นข้อสงสัยในสื่อสังคมออนไลน์ บริษัทกำหนดเงื่อนไขลาป่วย 1 - 2 วัน ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาประกอบการลา ถือว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธไม่แสดงใบรับรองแพทย์ได้

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงกรณีมีการให้ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่า หากลาป่วยไม่ถึง 3 วัน นายจ้างห้ามเรียกใบรับรองแพทย์ และบริษัทกำหนดให้ลูกจ้างที่ลาป่วย 1 หรือ 2 วัน ต้องนำใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้าง ว่า ข้อมูลดังกล่าวบิดเบือนจากความเป็นจริงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.  2541 มาตรา32  กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ซึ่งการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้าง "อาจ" ให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ ซึ่งกฎหมายมิได้มีบทบังคับว่าลูกจ้าง "ต้อง" แสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่ลาป่วยเสมอไป เนื่องจากลูกจ้างบางรายอาจไม่ได้รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล แต่อาจรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัย หรือซื้อยามารับประทานเองก็ได้ จึงไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงต่อนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างสามารถชี้แจงให้นายจ้างทราบถึงการลาป่วยดังกล่าวได้ สำหรับกรณีที่บางบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิลาป่วยต่างกัน เช่น ลาป่วย 1 หรือ 2 วัน ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาประกอบการลานั้น ประเด็นนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ส่วนสิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้น มาตรา 57 วรรคแรก กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างในระหว่างวันลาป่วย 30 วันทำงานในรอบ 1 ปี

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือติดเชื้อ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อโรคโควิด - 19 จำเป็นต้องไปรับการตรวจรักษาหรือกักกันตัว ให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้าง ใช้สิทธิลาป่วย หรือใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายหรือตามที่ตกลงกัน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการของนายจ้าง นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้หยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) หรือให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No Work No Pay) หรือให้หยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงกับลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่หยุดงานก็ได้ กรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวสิทธิหน้าที่ และการปฏิบัติตามแนวทางนี้ให้ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546         

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest