ศาสตราจารย์นักวิจัย มจธ. ที่ 1 ในไทยจากการจัดอันดับโดย The Reuters Hot List 2021 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

พฤหัส ๐๖ พฤษภาคม ๒๐๒๑ ๑๖:๕๙
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ได้จัดอันดับ 1,000 นักวิจัยทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือ The Reuters Hot List 2021 ซึ่งผลการจัดอันดับในปีนี้ Prof. Dr. Shabbir H. Gheewala (ศ. ดร.แชบเบียร์ กีวาลา) หัวหน้าศูนย์วิจัยการประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับการจัดอันดับที่ 552 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ทั้งนี้การจัดอันดับถูกพิจารณาจาก 3 ด้านหลัก คือ จำนวนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการเผยแพร่ จำนวนครั้งของการที่งานวิจัยเหล่านั้นถูกอ้างอิงถึงในสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ชีววิทยา เคมี หรือ ฟิสิกส์ เป็นต้น และจำนวนครั้งของการอ้างอิงผลงานวิจัยเหล่านั้นในสื่ออื่นๆ เช่น สิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และเอกสารเชิงนโยบายต่างๆ ทั้งนี้การประเมินผลกระทบของผลงานวิจัยเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท Digital Science ประเทศอังกฤษที่ได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยนับตั้งแต่ปี 1988 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการจัดอันดับนักวิจัยประจำปี 2021 นี้เป็นข้อมูลที่รวบรวมจนถึงช่วงเดือนธันวาคมของปี 2020 ผลงานบน The Reuters Hot List 2021

ดร.แชบเบียร์ กีวาลา ศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าศูนย์วิจัยการประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิต หรือ Life Cycle Sustainability Assessment (LCSA) มีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ ณ เดือนธันวาคม ปี 2020 รวมทั้งสิ้น 236 ผลงานวิจัย มีการอ้างอิงถึงผลงานวิจัยรวมทั้งสิ้น 5,649 ครั้ง และได้รับทุนนักวิจัยแกนนำ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประจำปี 2559 ผลงานวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐศาสตร์ ของระบบการผลิตพลังงานและอาหาร โดยอาศัยหลักการประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายของภาครัฐ และสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และพลังงาน รวมถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น ฐานข้อมูลด้านการจัดการของเสีย ระบบการผลิตอ้อย รวมถึงระบบการผลิตข้างในระดับภูมิภาคของประเทศไทย ผลงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

กว่า 20 ปีที่ ศ. ดร.แชบเบียร์ กีวาลา ได้ทำวิจัยด้านการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิต สำหรับระบบพลังงาน อาหาร และสิ่งแวดล้อม ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมไปสู่รูปแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมเพื่อให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการที่ผ่านมาได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถพัฒนาและต่อยอดไปเป็นแนวทางในการดำเนินการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไป

และหากพูดถึงการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วนั้น งานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นอีกหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการนำไปปรับใช้ให้เกิดคุณค่าและมีประสิทธิภาพแก่สังคมต่อไป ซึ่ง มจธ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จึงส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก ทำให้หน่วยงานต่างๆ ของ มจธ. รวมทั้งคณาจารย์ และบุคลากร ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจากการจัดอันดับ The Reuters Hot List 2021 นั้น แสดงให้เห็นว่า มจธ. มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 7 Affordable and Clean Energy (พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้) ที่มีการเผยแพร่ในระหว่างปี 2015-2021 มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ ศ. ดร.แชบเบียร์ มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 7 ที่มุ่งเน้นดำเนินการเกี่ยวข้องกับ ไบโอดีเซล ชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ มีงานผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 12 Responsible Consumption and Production (การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน) ที่มุ่งเน้นศึกษาวิจัยในด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตลอดกระบวนการผลิต และ นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ SDG ที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นทำการศึกษาและวิจัยในด้านคาร์บอนฟุตพรินต์ วอเตอร์ฟุตพรินต์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการประเมินผลกระทบ และการหาแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเช่นกัน

ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud