ช.การช่าง ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ครั้งใหม่เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ

ศุกร์ ๐๗ พฤษภาคม ๒๐๒๑ ๑๓:๔๔
บมจ. ช. การช่าง เผย บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ครั้งใหม่ มูลค่า 6,200 ล้านบาท ระบุปัจจัยสนับสนุนมาจากความเชื่อมั่นในบริษัทฯ ความเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจก่อสร้างและการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคของประเทศไทย

ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การจัดออกหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี 2564 นี้ว่า ในเบื้องต้น บริษัทฯ ต้องการออกหุ้นกู้จำนวน 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจความต้องการลงทุนในหุ้นกู้ (Bookbuild) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 มีผู้ลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทมากกว่ามูลค่าที่บริษัทมีแผนเสนอขายเดิมรวมกว่า 3 เท่า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อบริษัทฯ และทางบริษัทฯ ได้พิจารณาการจัดออกหุ้นกู้เพิ่มเติมโดยพิจารณาจากความเหมาะสม

หุ้นกู้ชุดใหม่นี้มีจำนวนทั้งหมด 4 ชุด ประกอบด้วย หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.97% มูลค่า 1,200 ล้านบาท   หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.39% มูลค่า 800 ล้านบาท  หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.00% มูลค่า 1,700 ล้านบาท และ หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.45% มูลค่า 2,500 ล้านบาท ทั้งนี้ หุ้นกู้รุ่นอายุ 7 ปี และ 10 ปี บริษัทฯ มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนโดยเงื่อนไขเป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิ หุ้นกู้ทั้ง 4 ชุดดังกล่าว ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ "A-" Stable outlook โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 และได้เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ ระหว่างวันที่ 5 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 และจัดออกหุ้นกู้ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อชำระคืนหนี้คงค้าง และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ ตลอดจนเพื่อขยายธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อสินทรัพย์ และ/หรือ การลงทุนของโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้แต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้

ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทฯ ขอขอบพระคุณผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่ให้ความสนใจในการลงทุนหุ้นกู้ของบริษัทฯ การที่หุ้นกู้ของบริษัทฯ ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างมากในครั้งนี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมถึงการมองเห็นถึงศักยภาพของบริษัทในโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่ผ่านมารวมถึงในอนาคต อาทิ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานหรือสัญญาซื้อขายระยะยาว นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความแข็งแกร่งในการดำเนินโครงการและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ

บริษัทฯ มีผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2563 มีรายได้รวม 18,442 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 627 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 82,774 ล้านบาท และหนี้สินรวม 56,503 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 26,271 ล้านบาท

ที่มา: บริษัท คิธ แอนด์ คิน คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital