รักษ์โลก ลดขยะพลาสติก ในภาวะที่ต้องสั่งอาหารออนไลน์ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ แนะวิธีลดขยะพลาสติก

พุธ ๐๙ มิถุนายน ๒๐๒๑ ๑๖:๐๙
นับตั้งแต่เกิดการระบาดโรคโควิด-19 ธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นมาก พร้อมๆ กับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 60 % สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ชี้ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลดปัญหาขยะด้วยหลัก 3 Reย้อนกลับไปราว 2-3 ปีที่แล้ว กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมในสังคมไทยปรากฏชัดมากจากนโยบายลดและกำจัดขยะที่ทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการงดใช้ถุงพลาสติกบรรจุสินค้าจากร้านค้า การรณรงค์ใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้แทนการใช้กล่องโฟมหรือพลาสติก ขณะที่ผู้บริโภคก็หันมาพกถุงผ้า กระติกน้ำ กล่องข้าว จนเริ่มกลายเป็นภาพที่เคยชิน หลายคนเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองจนเริ่มเป็นนิสัย

อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่ระบาดหนักของเชื้อไวรัสโคโรน่าตั้งแต่ต้นปี 2563 ตามด้วยมาตรการกักตัวอยู่บ้านเพื่อรักษาระยะห่างและลดโอกาสติดเชื้อ พฤติกรรมรักษ์โลกก็จำต้องถูกพักไว้ชั่วคราว แทนที่ด้วยการสั่งอาหารออนไลน์ซึ่งมาพร้อมกับภาชนะและถุงพลาสติกเป็นจำนวนมากราวปีละหลายพันล้านชิ้น แม้แต่การรับประทานในร้านอาหารก็ยังใช้ถุงร้อนบรรจุจานชามและช้อนส้อมของแต่ละคน

ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ได้รับการคลี่คลายลงเมื่อสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแนะนำวิธีจัดการขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปริมาณขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์

รายงานจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึงร้อยละ 62 ซ้ำยังเป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้น้อยเพราะส่วนมากเป็นขยะถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อนใส่อาหาร กล่องโฟมใส่อาหาร ขวดและแก้วน้ำพลาสติก

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปริมาณขยะพลาสติกจากธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ภายใน 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2568) จะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2,325-6,395 พันล้านชิ้นต่อปี

หลัก "3 Re" ลดขยะจากอาหารออนไลน์

ขณะที่เรากดสั่งอาหารออนไลน์ เรามักจะนึกเพียงเมนูและราคาอาหาร ยิ่งสั่งหลายรายการ ก็ยิ่งได้รับส่วนลดมากขึ้นจากการแข่งขันทางธุรกิจของเจ้าของแพลตฟอร์มรับจัดส่งอาหาร ซึ่งอาจไม่ทันเฉลียวใจว่าเราต่างกำลังเพิ่มปริมาณขยะพลาสติก กว่าจะรู้ตัวอีกครั้งก็หลังบริโภค หลายคนจึงทำได้เพียงแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง บางคนอาจทำมากกว่านี้ด้วยการลงมือล้างทำความสะอาดขยะแล้วผึ่งให้แห้งก่อนนำไปทิ้งในถังขยะ

แล้วบทบาทของเจ้าของแพลตฟอร์มรับสั่งและส่งอาหารจะทำอะไรได้บ้าง?

ธุรกิจรับสั่งและส่งอาหารที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้ ลำพังกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาและความรวดเร็วอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จอีกต่อไปเมื่อผู้บริโภครู้จักเลือกผู้ให้บริการที่คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ นี่คือความท้าทายครั้งใหม่ของผู้ประกอบการที่มองการณ์ไกล หันมาใส่ใจกับการลดขยะพลาสติกที่กำลังท่วมโลก ชิงความเป็นผู้นำในบริการขนส่งอาหาร สร้างความแตกต่างในธุรกิจพร้อมโอกาสเพิ่มรายได้จากภาพลักษณ์ "สีเขียว" ก่อนใคร

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ปรับหลักการ 3 Re ที่เราคุ้นเคยให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

  • Reduce - มาตรการลดการใช้ ข้อนี้ เจ้าของแพลตฟอร์มทำได้ทันทีด้วยการเพิ่มฟังก์ชัน "ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก" แบบอัตโนมัติ หากลูกค้าต้องการรับด้วยจึงเพิ่มด้วยตนเองภายหลัง ปัจจุบัน ทั่วโลกเริ่มมีบริการเช่นนี้ บางแห่งใช้เป็นแรงจูงใจโดยเพิ่มส่วนลดให้แก่ลูกค้าที่ไม่รับซึ่งได้ผล ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกส่วนลดแทนอุปกรณ์พลาสติก ขณะที่ฝ่ายเจ้าของแพลตฟอร์มก็ต้องกำชับกับร้านค้าในเรื่องนี้
  • Replace - มาตรการใช้บรรจุภัณฑ์ทางเลือก แนวทางนี้น่าจะควบคุมได้ไม่มากเนื่องจากต้องเริ่มที่ต้นทางคือร้านอาหาร หากได้ผล วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้มากโดยผู้บริโภคไม่ต้องกังวล และจะยิ่งได้ผลเร็วขึ้นหากได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการควบคุมราคาทุนของบรรจุภัณฑ์ทางเลือกซึ่งปัจจุบันยังมีราคาสูงกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก
  • Reuse - มาตรการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ แนวทางนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยแต่ผู้ประกอบการรายย่อยบางรายก็เริ่มทดลองใช้มาตรการนี้แล้ว เช่น การใช้ระบบมัดจำ-ส่งคืน (deposit-return system) โดยกำหนดจุดรับคืนภาชนะตามอาคารย่านธุรกิจและที่พักอาศัย ไม่ก็นัดหมายส่งคืนผ่านแอปพลิเคชัน แนวทางนี้น่าจะเป็นวิธีที่ลดปริมาณขยะได้มากที่สุดหากผู้บริโภคเห็นความสำคัญและให้ความร่วมมือ

รัฐต้องเข้ม บังคับใช้มาตรการ?

มาตรการควบคุมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Ban Policy) ในสาธารณรัฐประชาชนจีนคือกรณีศึกษา ที่ชี้ว่าหากภาครัฐเข้มงวด มาตรการบังคับใช้ย่อมได้ผล เช่น การห้ามแจกถุงพลาสติกในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายไม่ได้ในธุรกิจจัดส่งอาหารออนไลน์ในเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่งก่อนที่จะขยายผลครอบคลุมเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่ออกกฎห้ามผลิตและใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 8 ชนิด ได้แก่ ช้อนส้อมมีดตะเกียบ จาน หลอด ก้านทำความสะอาดหู แท่งคนเครื่องดื่ม ก้านลูกโป่ง กล่องโฟม และผลิตภัณฑ์ที่ผสมสาร OXO (พลาสติกไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ)

ทั้งสองกรณีศึกษาสะท้อนความสำคัญของท่าทีและบทบาทภาครัฐซึ่งมีศักยภาพในการใช้มาตรการระงับวงจรการก่อขยะพลาสติกได้อย่างจริงจังและกว้างขวาง ขณะที่รัฐบาลไทยยังคงเลือกวิธีการ "ขอความร่วมมือ" มากกว่าการบังคับซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ต้องการความมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งหากได้ผลเป็นรูปธรรม มาตรการเข้มงวดใด ๆ ก็ไม่จำเป็น

ขณะนี้หลาย ๆ คนก็คงจะพอได้แนวทางที่จะสั่งอาหารออนไลน์ให้เกิดขยะอย่างน้อยที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถกำจัดขยะพลาสติกที่เกิดจากการสั่งอาหารออนไลน์ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นในสถานการณ์เช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามเราก็สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะพลาสติกที่ล้นเมืองนี้ได้ ถ้าหากทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักต่อปัญหาขยะ และมีการร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะกันอย่างจริงจังกันอย่างเช่นช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิดได้ อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นตัวเลขปริมาณขยะพลาสติกลดลงได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง