ปี 2564-2565 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพา Medical Tourism ยังคงลำบากท่ามกลางโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย

พฤหัส ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๒๑ ๑๔:๕๙
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติที่เป็น Medical Tourism ซึ่งไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศได้เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศระลอกนี้ที่สถานการณ์ยังคงรุนแรง น่าจะส่งผลให้ภาพรวมของตลาด Medical Tourism ของไทยในปี 2564 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าไม่ต่ำกว่า 90% (YoY) หรือมีจำนวนราว 10,000-20,000 คน (ครั้ง) ขณะที่ปี 2565 Medical Tourism อาจจะฟื้นตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า แต่ยังคงไม่กลับเข้าสู่ช่วงปกติก่อนเกิดโควิด จึงทำให้ยังคงมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อการสร้างรายได้ของธุรกิจ และการกลับมาของตลาด Medical Tourism จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโควิดและการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศเป็นสำคัญสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยังอยู่ในขั้นรุนแรง ส่งผลกระทบต่อประชาชนและบรรดาธุรกิจต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโดยเฉพาะที่พึ่งพารายได้จากกลุ่ม Medical Tourism โดยจะเห็นได้จากในปี 2563-2564 โควิดทำให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนใตลาดหลักทรัพย์ฯ หดตัวประมาณ 12.5% และ 11.9% ตามลำดับ และคาดว่า ในปี 2565 การบริหารจัดการโควิดในประเทศ ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากกลุ่ม Medical Tourism

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ไทยถือเป็นผู้นำตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism ในภูมิภาคเอเชีย โดยพิจารณาจากจำนวน Medical Tourism ที่เดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพในไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มาตรวจเช็คสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม รวมถึงผ่าตัดกระดูกและหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสร้างรายได้ที่เป็นส่วนของค่ารักษาพยาบาลให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไม่ต่ำกว่าปีละ 39,000 ล้านบาท หรือคืดเป็นสัดส่วนราว 24% ของรายได้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งการระบาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่เป็น Medical Tourism เช่นกัน สัญญาณดังกล่าวคาดว่าจะกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง และด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงจำนวนคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่จะเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในไทย

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่สถานการณ์ยังคงรุนแรง น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติที่เป็น Medical Tourism ซึ่งไม่สามารถเดินทางเข้าใช้บริการในประเทศได้เช่นเดียวกับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมของตลาด Medical Tourism ของไทยในปี 2564 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าไม่ต่ำกว่า 90% (YoY) หรือมีจำนวนราว 10,000-20,000 คน (ครั้ง) โดยตลาดคนไข้ที่คาดว่าจะหดตัวสูงน่าจะเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น) จีน และกลุ่มประเทศในอาเซียน (เมียนมา กัมพูชา ลาว) ที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายได้คนไข้ต่างชาติทั้งหมด เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีทั้งที่เป็นการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยโดยตรง (Direct Fly-in) และเลือกที่จะมาใช้บริการทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการพักผ่อนท่องเที่ยว โดยบริการทางแพทย์ที่เลือกส่วนใหญ่จะไม่ซับซ้อน ไม่ต้องอาศัยการพักฟื้นและสามารถท่องเที่ยวต่อได้ เช่น ตรวจเช็คสุขภาพเบื้องต้น ทันตกรรม เป็นต้น แต่ภายหลังมีการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีมานี้ ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศของกลุ่ม Medical Tourism ทำได้ยากลำบากและต้องหยุดชะงักไป จึงส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มคนไข้ต่างชาติที่ทำงานและพำนักในประเทศหรือ EXPAT เช่น ญี่ปุ่น หรือกลุ่มยุโรปที่เดินทางเข้ามาพำนักระยะยาวในไทย หรือ Long-stay คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบเช่นกันแต่อาจจะน้อยกว่ากลุ่ม Medical Tourism

ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะยังคงเป็นปีที่ท้าทายและยากลำบากสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะตลาด Medical Tourism ซึ่งการกลับมาฟื้นตัวของตลาด Medical Tourism จะเร็วหรือช้ายังคงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโควิดและการฉีดวัคซีนของคนในประเทศ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ สามารถคลี่คลายได้ภายในสิ้นปี 2564 (ตัวเลขการติดเชื้อไม่เกิน 1,000 คนต่อวัน และไม่มีการระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่) มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จะเริ่มทยอยกลับมาเข้าใช้บริการทางการแพทย์ และคาดว่า จำนวน Medical Tourism ในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 130,000-180,000 ล้านคน (ครั้ง) โดยส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มคนไข้เดิมที่เข้ารับการรักษาพยาบาลหรือดูแลสุขภาพผ่านโรงพยาบาลเอกชนของไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง เมียนมา จีน เป็นต้น อย่างไรก็ดี อาจจะต้องติดตามสถานการณ์การระบาดรวมถึงการบริหารจัดการโควิดในประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปจนถึงปีหน้า ก็อาจจะสร้างความกังวลและทำให้จำนวน Medical Tourism ที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ Medical Tourism เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากโควิดในปี 2564-2565 ซึ่งการกลับมาของ Medical Tourism และการเป็น Medical Hub ของไทยจะกลับมาได้เร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ รวมถึงการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ซึ่งส่วนใหญ่คนไข้ Medical Tourism จะเลือกใช้บริการทางการแพทย์ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา) รวมถึงการบริหารจัดการโควิดในประเทศต้นทางที่เป็นกลุ่มคนไข้ Medical Tourism ที่สำคัญของไทย ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทยเช่นกัน

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ด้วยสถานการณ์ในระยะข้างหน้าที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะการระบาดของโรคอุบัติใหม่ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แม้ในมุมหนึ่ง เหมือนจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและต้องการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกันมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากสถานการณ์รุนแรงและขยายไปในวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นกัน

ดังนั้น บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การพิจารณานำเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือ Health Tech เข้ามาใช้บริหารจัดการและอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศได้ รวมถึงการกระจายฐานลูกค้าที่หลากหลายทั้งในมิติของการมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ หรือการเจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย Segment ของรายได้มากขึ้นเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการนำเสนอบริการทางการแพทย์ใหม่ๆ เช่น การให้บริการรักษาพยาบาลโรคที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงโปรแกรมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันครบวงจร (Preventive care) ให้กับคนไข้ เป็นต้น

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. อ.อ.ป. ร่วม พิธีสรงน้ำพระ ขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ประจำปี 2567 ทส.
๑๑ เม.ย. 1 จาก 1,159 ศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง ส่งมอบลอตเตอรี่ที่ไม่ถูกรางวัล จำนวน 125,500 ใบ ให้กับศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษ วัดห้วยหมู
๑๑ เม.ย. JPARK ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห. อนุมัติปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น
๑๑ เม.ย. สเก็ตเชอร์ส สนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อความสบายแก่บุคลากรทางการแพทย์ บริจาครองเท้ารุ่น GOwalk 7(TM) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
๑๑ เม.ย. ศูนย์คนหายไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำงานเชิงป้องกัน เก็บก่อนหาย ในผู้สูงอายุ
๑๑ เม.ย. จุฬาฯ อันดับ 1 ของไทย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS WUR by Subject 2024
๑๑ เม.ย. ครั้งแรกในไทย 'Pet Us' เนรมิตพื้นที่จัดกิจกรรม มะหมามาหาสงกรานต์ ชวนน้องหมาทั่วทั้ง 4 ภาคร่วมสนุกในช่วงสงกรานต์ 13-14 เมษายน ตอกย้ำความสำเร็จฉลอง 'Pet Us' ครบ 3
๑๑ เม.ย. LINE STICKER OCHI MOVE จาก OCEAN LIFE ไทยสมุทร คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Sponsored Stickers in Insurance ในงาน LINE THAILAND AWARDS
๑๑ เม.ย. วว. ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่าย พัฒนาเชื่อมโยงการค้า ตลาด วิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๑ เม.ย. บริษัท เค วัน วัน ดี จำกัด ถือฤกษ์ดีจัดพิธีบวงสรวง ซีรี่ส์ Girl's Love เรื่องใหม่ Unlock Your Love : รักได้ไหม ?