วิจัยกรุงศรีชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังรักษาอัตราการเติบโตได้ แต่แรงส่งมีแนวโน้มอ่อนแอลงในไตรมาส 3 คาดการณ์ GDP ปีนี้ยังมีความเสี่ยงขาลงอยู่มาก

พุธ ๑๘ สิงหาคม ๒๐๒๑ ๑๗:๐๓
วิจัยกรุงศรีรายงานว่า GDP ใน 2Q2564 เติบโตกว่าคาด ขณะที่ความรุนแรงของการระบาดยังคงกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ใน 2Q2564 ขยายตัว 7.5% YoY ดีกว่าที่ตลาดและวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ +6.6% และ +7.0% ปัจจัยหนุนจากการเติบโตของการส่งออกสินค้า (+30.7%) การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ (+2.5%) และผลของฐานที่ต่ำมากในปีก่อน ส่วนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แม้ GDP ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่ +0.4% QoQ sa แต่อุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณซบเซาลงชัดเจน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบมากขึ้น (ดังตาราง) ผลกระทบจากการระบาดในประเทศที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 สำหรับภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรมมีการปรับดีขึ้นจากไตรมาสแรก (+2.7%) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง (+1.8%) และภาคบริการยังหดตัวต่อเนื่อง (-0.8%) ทั้งนี้ โดยรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัวที่ 2.0% ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 0.7%-1.2% จากเดิมคาด 1.5% -2.5%

แม้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเกินคาด แต่การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ในระดับสูงและมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน ซึ่งล่าสุดวิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจแตะระดับ 26,000 รายในช่วงต้นเดือนกันยายน และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน ดังนั้น คาดว่ากว่าที่ทางการจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน เป็นผลให้อุปสงค์ในประเทศและหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มซบเซา นอกจากนี้ ภาคการผลิตและภาคส่งออกอาจได้รับความเสี่ยงจากการระบาดที่แพร่ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้างขึ้น รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อาจชะลอลงหลังจากหลายประเทศประสบกับการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจึงมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากครึ่งปีแรกอย่างชัดเจน ขณะที่ประมาณการ GDP ปีนี้ที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ว่าจะเติบโตที่ 1.2% เผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้นหากมาตรการทางการคลังและการเงินที่กำลังจะออกมาไม่มากเพียงพอที่จะบรรเทาผลเชิงลบดังกล่าว

ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่การระบาดแพร่สู่ภาคการผลิตเป็นวงกว้างมากขึ้น เสี่ยงกระทบส่งออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่ 78.9 จาก 80.7 ในเดือนก่อน ปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐขยายพื้นที่และระยะเวลาในการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาด ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 89.3 จาก 90.8 ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม

การลดลงของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสอดคล้องกับผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมอยู่ในแดนหดตัว (ต่ำกว่า 50) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับ 48.7 จาก 49.5 ในเดือนก่อน สะท้อนภาคการผลิตในต้นไตรมาส 3/2564 ปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่เลวร้ายลงและยาวนานกว่าคาด ล่าสุดต้นเดือนสิงหาคมทางการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัด และขยายเวลาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ถึงวันที่ 18 สิงหาคม และมีแนวโน้มอาจขยายถึงสิ้นเดือนสิงหาคมเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ โลหะ และพลาสติก ทั้งนี้ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานได้ คาดว่าผลกระทบด้านแรงงานอาจบั่นทอนผลผลิตภาคอุตสาหกรรรมและภาคส่งออก ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มอ่อนแอลง

ด้านเศรษฐกิจโลก การระบาดรอบใหม่จากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจหลายประเทศแม้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯร่วงลง แต่ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานหนุนเฟดประกาศปรับลด QE ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งแตะระดับ 129,705 รายสูงสุดในรอบ 6 เดือน เป็นผลจากการระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่อาจกระทบเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ 70.2 นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นฯที่ลดลงยังสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจำกัดการบริโภคภาคครัวเรือน

แรงต้านจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่กดดันการฟื้นตัว อาจทำให้เฟดยังไม่มีท่าทีที่เข้มงวด (Hawkish) มากในการประชุมธนาคารกลางทั่วโลกที่เมืองแจ็กสัน โฮล แต่คาดว่าเฟดอาจประกาศแผนการปรับลด QE ในไตรมาสที่ 4/2564 ก่อนดำเนินการปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE Tapering) ที่จะเริ่มต้นในปีหน้า เนื่องจาก

(i) แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมเพิ่ม 5.4% YoY ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน

(ii) ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากจำนวนการเปิดรับสมัครงานเดือนกรกฎาคมแตะระดับ 10.1 ล้านตำแหน่ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.4% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ล่าสุดจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 สิงหาคมลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 สู่ระดับ 3.75 แสนราย

จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในญี่ปุ่นมีแนวโน้มกระทบเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 3 คาดการฟื้นตัวอาจล่าช้าออกไป ในเดือนมิถุนายนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัว 5.1% YoY ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่รายได้จากการจ้างงานลดลง 0.1% หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่วนในเดือนกรกฎาคมดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการปรับตัวลงสู่ระดับ 48.8 สะท้อนการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ค่าดัชนี <50) เป็นเดือนที่ 3

การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ที่มีสาเหตุสำคัญจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันแตะระดับ 15,000 รายสูงสุดนับตั้งแต่โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาด รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 4 เริ่มจากเมืองโอกินาวาในเดือนมิถุนายนและขยายออกไปจนครอบครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด รวมทั้งกรุงโตเกียวและนครโอซาก้า ขณะเดียวกันยังได้ประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินใน 13 จังหวัด โดยพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมทั้งหมดนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของ GDP คาดว่าผลกระทบจากการระบาดที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงจะส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 สะดุดลงและการฟื้นตัวอาจล่าช้ากว่าประเทศหลักอื่นๆ

เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยลบทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสเดลต้าและการยกระดับมาตรการควบคุมการเก็งกำไร ในเดือนกรกฎาคมการส่งออกขยายตัว 19.3% YoY ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลง 11.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.0% ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ด้านปริมาณสินเชื่อออกใหม่เติบโต 12.3% ทรงตัวจากเดือนก่อน

ตัวเลขในเดือนกรกฎาคมสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ทั้งจากมูลค่าการส่งออกที่มีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การลดลงของยอดจำหน่ายรถยนต์บ่งชี้ว่าแรงขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศเริ่มแผ่วลง นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันหลายด้านดังต่อไปนี้

(i) การระบาดระลอกใหม่โดยเฉพาะจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า

(ii) การปิดท่าเรือหนิงโป-โจวซานชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลต่อการชะงักงันของการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งในจีนและการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก

(iii) มาตรการเพื่อควบคุมการเก็งกำไรซึ่งกระทบภาคธุรกิจบางสาขาโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าทางการจีนจะต้องใช้มาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาความไม่แน่นอนข้างต้นและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม - วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home

ที่มา: ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง