แพทย์แผนไทยแนะ "ตรีกฏุก" ตำรับยาไทยปรับธาตุลม พร้อมชูเมนูอาหาร รสเผ็ดร้อน เหมาะดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน

ศุกร์ ๐๓ กันยายน ๒๐๒๑ ๑๐:๕๓
แพทย์แผนไทยแนะ "ตรีกฏุก" ตำรับยาไทยปรับธาตุลม พร้อมชูเมนูอาหาร รสเผ็ดร้อน เหมาะดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำศาสตร์การแพทย์ไทยในคัมภีร์ ชู "ตรีกฏุก"ที่มีส่วนผสม เหง้าขิง เมล็ดพริกไทย และ ดอกดีปลี ปรับธาตุลมในร่างกาย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และช่วยปรับสมดุลร่างกายอย่างเหมาะสม พร้อมชูเมนูอาหารรสเผ็ดร้อน ต้มยำ ต้มโคล้ง แกงป่า ที่เหมาะจะรับประทาน ในช่วงฤดูฝน

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงเดือน พฤษภาคม - ตุลาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้หลายพื้นของประเทศไทยมีฝนตกชุก และในช่วงรอยต่อของฤดูกาลในช่วงฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน อากาศทั่วไปจะค่อนข้างร้อนอบอ้าว เนื่องจากในช่วงปลายฤดูร้อนจะกระทบอากาศเย็นชื้นในช่วงต้นฤดูฝน ทำให้ร่างกายปรับเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศอย่างกระทันหัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยไม่สบายขึ้นได้

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยในคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย มีการบันทึกไว้เกี่ยวกับโรคที่มักจะเกิดในช่วงฤดูฝน ซึ่งมักเกิดจากธาตุลมภายในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง (ระบบประสาทและการไหลเวียนโลหิตทำงานได้ไม่สะดวก) มักทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไม่สดชื่น ร่างกายไม่มีกำลัง การบรรเทาอาการหรือการป้องกันอาการดังกล่าวไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทางศาสตร์การแพทย์แผนไทย นิยมใช้พิกัดยา ตรีกฏุก (ตรีแปลว่า สาม, กฏุก แปลว่า เผ็ด, ดังนั้น ตรีกฏุก แปลว่า ของเผ็ดสามอย่าง ได้แก่ เหง้าขิง, เมล็ดพริกไทย และดอกดีปลี) ได้แก่ เหง้าขิง, เมล็ดพริกไทย และดอกดีปลี ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 โดยนำมาต้มพอเดือด (15 - 20 นาที) ดื่มหลังอาหาร เช้า - เย็น วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 60 มิลลิลิตร จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า เหง้าขิง มีสาร gingerols และ shogaols สามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเฟ้อ ต้านการอักเสบ และสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ ส่วนเมล็ดพริกไทยและดอกดีปลี พบสาร piperine ช่วยยั้บยั้งอาการแพ้ (ยับยั้งการหลั่ง histamine) สามารถบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ดังนั้น พิกัดยาตรีกฏุก จึงเป็นตำรับยาที่เหมาะต่อการนำมาดูแลสุขภาพในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวประกอบด้วยสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน ควรห้ามใช้กับผู้ที่แพ้สมุนไพรในส่วนประกอบของตรีกฏุก ห้ามใช้ในสตรี ที่ตั้งครรภ์ และควรระวังการใช้กับผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงฤดูฝน ควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร รสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ โหระพา แมงลัก พริกไทย ฯลฯ เมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ ต้มยำ ต้มโคล้ง แกงป่า แกงไตปลา และผัดเผ็ดต่าง ๆ ส่วนเครื่องดื่มหรือชาสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ ก็จะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงได้อีกด้วย และที่สำคัญ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เน้นการดูแลสุขภาพให้ถูกสุขลักษณะ เช่น กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย งดเว้นการเข้าไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด และ ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรหรือการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามได้ที่ 02 590 7007 หรือทางเฟซบุ๊คและไลน์แอด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ที่มา: ไบรท์ ทู ยู

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๖ กทม. ประเมินผล Lane Block จัดระเบียบจราจรหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ พบรถแท็กซี่-สามล้อเครื่องจอดแช่ลดลง
๑๗:๐๓ สมาคมประกันวินาศภัยไทย Kickoff การใช้ข้อมูล Non-Life IBS พร้อมส่งมอบรายงานข้อมูลสถิติในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของประเทศ
๑๗:๓๖ 3 โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ ซื้อ SAV เคาะราคาเป้า 24-25 บาท/หุ้น คาดกำไร Q1/67 ทุบสถิติออลไทม์ไฮ รับปริมาณเที่ยวบินเพิ่ม เก็งผลงานทั้งปีโตเด่น
๑๗:๐๓ Minto Thailand คว้ารางวัล Best Official Account จาก LINE Thailand Award 2023
๑๗:๒๔ กทม. ตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร ป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ เตรียมพร้อมหน่วยเบสท์รองรับพายุฤดูร้อน
๑๗:๓๒ ไขข้อสงสัย.เมื่อซื้อแผงโซล่าเซลล์แล้วจะขนย้ายกลับอย่างไรให้ปลอดภัย โดย เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย)
๑๖:๔๕ ไทเชฟ ออกบูธงาน FHA Food Beverage 2024 ที่สิงคโปร์
๑๖:๕๓ เนื่องในวันธาลัสซีเมียโลก มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย
๑๖:๓๕ EGCO Group จัดพิธีเปิดโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration (ส่วนขยาย) อย่างเป็นทางการ
๑๖:๒๖ เพลิดเพลินไปกับเมนูพิเศษประจำฤดูกาล: อาหารจากแคว้นซิซิลี ประเทศอิตาลี ที่ โวลติ ทัสคาน กริลล์ แอนด์ บาร์ โรงแรมแชงกรี-ลา