ร่วมสร้างความตระหนักหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นผ่านเว็บไซต์ "สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ"

ศุกร์ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๐๒๑ ๐๙:๕๖
หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) ร่วมมือกับ กรีนพีซ ประเทศไทย และองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดตัวเว็บไซต์ "สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ" หรือ Antibiotic Footprint - Individual Calculator (https://www.antibioticfootprint.net/calculator/th) ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มแบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่มีวัตถุประสงค์ให้คนสามารถเข้ามาเรียนรู้และลดปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะนำไปสู่ปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก วิกฤตเชื้อดื้อยานั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตที่สำคัญในปัจจุบัน

รศ. ดร.นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า "เว็บไซต์ "สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ" หรือ Antibiotic Footprint - Individual Calculator เป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play education) ที่ได้นำแนวคิดมาจากการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบุคคล (Carbon Footprint Individual Calculator) นำมาปรับใช้เป็นการคำนวณการบริโภคยาปฎิชีวนะของแต่ละคน จากทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ จากการรับประทานยา และการบริโภคเนื้อสัตว์ ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์สามารถวัดขนาดรอยเท้ายาปฏิชีวนะของตนเอง และเปรียบเทียบรอยเท้ายาปฏิชีวนะกับของผู้อื่นทั้งในประเทศและผู้อื่นทั่วโลก ซึ่งการวัดรอยเท้ายาปฏิชีวนะและการอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ในขณะที่เล่น จะกระตุ้นให้ผู้เล่นเข้าใจถึงปัญหา และลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น"

ในทุกประเทศทั่วโลกที่มีการเปิดเผยปริมาณการบริโภคยาปฏิชีวนะทั้งในคนและในสัตว์อย่างเป็นทางการพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบริโภคยาปฏิชีวนะมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยจากสถิติ คนไทยมีค่าเฉลี่ยในการบริโภคยาปฏิชีวนะมากถึง 38.56 กรัมต่อคนต่อปี โดยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการบริโภคต่ำสุดได้แก่ประเทศเอสโตเนีย ที่ 5.74 กรัมต่อคนต่อปี เนเธอร์แลนด์ ที่ 6.57 กรัมต่อคนต่อปี และออสเตรีย ที่ 6.59 กรัมต่อคนต่อปี การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกต้องและมากเกินไป ทั้งจากการบริโภคของมนุษย์โดยตรง การทำปศุสัตว์ และการทำการเกษตร ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา โดยที่เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต ที่ทำให้เกิดโรคจะหยุดการตอบสนองต่อยา ซึ่งเป็นเหตุให้การติดเชื้อทั่ว ๆ ไปที่เคยรักษาได้ผลดี กลับรักษาได้ยากยิ่งขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตได้

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า "คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ายาปฏิชีวนะมักจะถูกนำมาใช้ในฟาร์มปศุสัตว์อย่างเกินความจำเป็น โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 30 ของการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกนั้นเกิดจากการบริโภคโดยตรงจากมนุษย์ ในขณะที่อีกร้อยละ 70 นั้นมาจากสัตว์ นี่คือข้อมูลที่ขาดหายไปในระบบอาหารของเราที่ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารของเราบ้าง และการหันมาศึกษาถึงแหล่งที่มาและวิธีการเลี้ยงของฟาร์มต้นกำเนิดก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มาบริโภคจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่อยากให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจ"

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า "การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปในฟาร์มอุตสาหกรรมได้สะท้อนให้เห็นถึงสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ และยังส่งผลให้เกิดการตกค้างของยา และแบคทีเรียดื้อยาจะถูกปล่อยออกสู่ภายนอกผ่านเนื้อสัตว์ แหล่งน้ำธรรมชาติ และสู่สิ่งแวดล้อมโดยรอบ ส่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในชุมชนเป็นวงกว้าง ดังนั้นเราจึงเรียกร้องให้มีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มกับสัตว์ฟาร์ม ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตออีกด้วย"

เว็บไซต์ "สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ" หรือ Antibiotic Footprint - Individual Calculator ได้รับทุนสนับสนุนจากกรีนพีซ ประเทศไทย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และมูลนิธิเวลคัม (สหราชอาณาจักร) โดยเว็บไซต์นี้จะเปิดตัวในช่วงงาน"สัปดาห์ความตระหนักรู้ เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทย" ในระหว่างวันที่ 18-26 พฤศจิกายน 2564

สามารถชมเว็บไซต์ "สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ" ได้ที่ www.antibioticfootprint.net/calculator

หมายเหตุ

  • เว็บไซต์ "สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ": www.antibioticfootprint.net/calculator
  • www.antibioticfootprint.net
    D Limmathurotsakul, J A T Sandoe, D C Barrett, et al, 'รอยเท้ายาปฎิชีวนะ' เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยลดการใช้ยาปฎิชีวนะ, Journal of Antimicrobial Chemotherapy, Volume 74, พิมพ์ 8, สิงหาคม 2562, หน้า 2122-2127, https://doi.org/10.1093/jac/dkz185
  • 'Superbugs' หรือ แบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ กลายเป็นหัวข้อข่าวในสื่อมากมาย ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้เรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะ และนำไปสู่แผนปฏิบัติการที่หลากหลายจากผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คำศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป เช่น "สงครามกับซูเปอร์บั๊ก: the war against superbugs " อาจทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าเราต้องขอยาปฏิชีวนะ "ชนิดใหม่" หรือ "แรงกว่าเดิม" จากแพทย์เพิ่ม เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการวัดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างง่ายเพื่อสื่อสารกับประชาชน ซึ่งแนวคิดของ "สื่อรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ" สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้สาธารณชนทราบถึงขนาดการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์ สัตว์ และอุตสาหกรรม และวิธีที่จะช่วยสนับสนุนการลดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดและการใช้ในทางที่ผิดทั่วโลกได้

ที่มา: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว