ก.ล.ต. ชวนทำความรู้จัก ข้อมูลสำคัญจาก "หนังสือชี้ชวน"

อังคาร ๐๕ เมษายน ๒๐๒๒ ๑๔:๓๑
การออกเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (Initial Public Offering) หรือที่เราคุ้นหูกันว่า "IPO" ยังคงมีให้เราเห็นตามข่าวกันอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีบริษัทขนาดใหญ่หลายรายเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทด้วยการเสนอขายหุ้น ทำให้เกิดกระแสการลงทุนในหุ้น IPO ที่คึกคัก และมีผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ก.ล.ต. ชวนทำความรู้จัก ข้อมูลสำคัญจาก หนังสือชี้ชวน

เมื่อพิจารณาในมุมมองของกิจการที่ต้องการเงินทุน นับเป็นการสร้างโอกาสให้บริษัทได้ระดมทุนนำเงินไปใช้ขยายกิจการให้เติบโตยิ่งขึ้น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และในมุมของผู้ลงทุนก็เป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่ช่วยสร้างโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินและยังมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัทเหล่านั้นโดยใช้เงินจำนวนไม่มาก

เมื่อโอกาสการลงทุนมาถึง ก่อนตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนสามารถทำความเข้าใจกับหุ้น IPO จาก หนังสือชี้ชวน ซึ่งจะให้ข้อมูล 3 ส่วนที่สำคัญ คือ

  1. การประกอบธุรกิจ ให้ข้อมูลว่าบริษัททำธุรกิจอะไร มีลูกค้าเป็นใคร เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ในเรื่องใด ปัจจุบันบริษัทมีโครงการอะไรบ้างและโครงการในอนาคตจะเป็นอย่างไร รวมทั้งความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
  2. การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ ผู้บริหาร การกำกับดูแลกิจการ โครงสร้างการบริหารงาน การทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  3. ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ให้ข้อมูลทางการเงิน และการวิเคราะห์งบการเงินโดยผู้บริหาร

เมื่อผู้ลงทุนรู้จักธุรกิจของบริษัทแล้ว และต้องการทำความรู้จักกับ "กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่" ที่จะมีสิทธิออกเสียงนำบริษัทให้เติบโตต่อไป และถ้าบริษัทเติบโต บริษัทจะจ่ายเงินปันผลอย่างไร ผู้ลงทุนสามารถหาข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวนในหัวข้อ "การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ" และ "โครงสร้างผู้ถือหุ้น" ที่จะอธิบายถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบและผู้บริหาร ว่าจะมีการออกนโยบายที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดเกณฑ์สำหรับบริษัทที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียน เกี่ยวกับช่วงระยะเวลาที่ห้ามขายหุ้น หรือที่รู้จักกันว่า "Silent period" สำหรับกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนรายย่อย หรือเรียกว่า "Strategic Shareholders" ซึ่งได้แก่ กรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องและและผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นจำนวนมากกว่าร้อยละ 5 ของทุนชำระแล้ว รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจควบคุม เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนรายย่อย ว่า Strategic Shareholders จะถือหุ้นบริษัทไปอีกระยะหนึ่ง โดยหุ้นของกลุ่ม Strategic Shareholders จำนวนรวมกัน 55% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO จะถูกห้ามซื้อขายในช่วง 1 ปีนับแต่วันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาด นั่นหมายความว่า ณ วันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขาย หุ้นของกลุ่ม Strategic Shareholders จำนวน 55% จะถูกล็อคห้ามซื้อขาย และเมื่อครบกำหนด 6 เดือน จะสามารถทยอยขายหุ้นได้ 25% ของหุ้นที่ถูกห้ามขาย เมื่อครบเวลา 1 ปี จึงสามารถขายหุ้นทั้งหมดได้ 100% เกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริหารขายหุ้นทั้งหมดออกไปทันที เพราะการขายหุ้น ในช่วงวันแรกที่เข้าซื้อขาย อาจทำให้ราคาหุ้น IPO ต่ำลงอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทในอนาคต อย่างไรก็ดี ในกรณีที่กลุ่ม Strategic Shareholders มีหุ้นรวมกันเกินกว่า 55% จะทำให้มีหุ้นบางส่วนของ Strategic Shareholders ที่ไม่ติด silent period ซึ่งเป็นดุลพินิจของ Strategic Shareholders ในการที่จะขายหุ้นส่วนนี้ โดยสามารถทำได้ตั้งแต่วันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขาย นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจมีการซื้อขายหุ้น IPO แบบ Big Lot ซึ่งเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ในกระดานรายใหญ่สำหรับ นักลงทุนรายใหญ่ เช่น สถาบัน เจ้าของกิจการ กลุ่มบริษัท หรือนักลงทุนที่รวมตัวกันเพื่อซื้อหุ้นตัวนั้น ตั้งแต่ 1 ล้านหุ้น หรือ 3 ล้านบาทขึ้นไป ที่ราคา IPO

อีกเรื่องหนึ่งในหนังสือชี้ชวนที่ผู้ลงทุนควรศึกษา คือ การจ่ายเงินปันผล ซึ่งบริษัทจะระบุว่าจะมีนโยบายการจ่ายปันผล และเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลอย่างไร โดยแต่ละบริษัทจะกำหนดการจ่ายเงินปันผลแตกต่างกันไป โดยมักคิดเป็นสัดส่วนของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ อัตราการจ่ายเงินปันผลอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยบริษัทอาจกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม และในปีใดที่บริษัทมียอดขาดทุนสะสมอยู่ กฎหมายจะกำหนดให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาความสม่ำเสมอของการจ่ายเงินปันผลอีกด้วย โดยหากเป็นเงินปันผลที่มาจาก "กำไรพิเศษ" เช่น กำไรจากการขายที่ดิน ขายหุ้นบริษัทย่อย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทก็อาจจะจ่ายเงินปันผลได้สูงในบางปีเท่านั้น อีกทั้งในบางกรณีที่บริษัทมีการจ่ายปันผลภายหลังจากวันที่ระบุในงบการเงิน เช่น ข้อมูลในงบการเงินแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 และบริษัทจ่ายเงินปันผลภายหลังจากวันดังกล่าวทำให้ไม่สะท้อนค่าใช้จ่ายในงบการเงิน แต่จะอธิบายไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือจ่ายปันผลจากเงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งทั้งสองกรณี ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาว่ากระทบต่อภาระดอกเบี้ย สภาพคล่อง หรือฐานะการเงินของบริษัทหรือไม่ มีผลต่ออัตราหนี้สินต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถดูได้จากหัวข้อ "การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ" ที่จะทำให้เรารู้จักบริษัทในเชิงวิเคราะห์ถึงสาเหตุการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของตัวเลขในงบการเงินที่สำคัญ ช่วยให้อ่านงบการเงินได้เข้าใจมากขึ้น และพิจารณาต่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการทำธุรกิจปกติ ผลกระทบจากเหตุการณ์พิเศษ รวมทั้งรายการสำคัญที่เกิดภายหลังงบการเงิน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพื่อให้มองภาพการลงทุนของบริษัทและประเมินความยั่งยืนของเงินปันผลได้ถูกต้อง

ที่มา: ก.ล.ต.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว