สสส.และเครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับ WHO สร้างยุทธศาสตร์"ลดการบริโภคเกลือโซเดียม" ให้ได้ภายในปี 2568

พุธ ๓๑ สิงหาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๕๒
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ร่วมหนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "ลดการบริโภคเกลือโซเดียม" ในประเทศไทย สานเสริมพลังความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เร่งปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนให้เหมาะสมและลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ที่มากเกินพอดี เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ภายในปี 2568 ให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์
สสส.และเครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับ WHO สร้างยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือโซเดียม ให้ได้ภายในปี 2568

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์"ลดการบริโภคเกลือโซเดียม" ในประเทศไทย เป็นภารกิจสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อการบริโภคโซเดียมในปริมาณมาก จะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา (Left ventricular hypertrophy) และเกิดการสะสมของพังผืดในกล้ามเนื้อหัวใจ ไตและหลอดเลือดซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต สถานการณ์การบริโภคเกลือของประเทศไทยในขณะนี้ จากผลการสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมในประชาชนทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ.2563 พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียม เฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัม (มาตรฐานปกติ 2,000 มิลลิกรัม) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยได้รับเกลือในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันเกินเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้หากปรับพฤติกรรมการบริโภคโดยลดบริโภคโซเดียมลงเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 700-800 มิลลิกรัมต่อวัน) ก็จะสามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ถึง 20% และลดอัตราตายได้ 5-7%

ทพญ.จันทนากล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ได้ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเกิดผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การผลักดันให้เกิดมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 เรื่องนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2568 ,การพัฒนาปรับปรุงสูตรอาหารให้มีความเค็มลดลง โดยใช้สารทดแทนความเค็ม , พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม , ขยายผลนวัตกรรมเครื่องตรวจสอบความเค็มในอาหาร , เกิดฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสเค็มที่นิยมใช้ในอาหารตามภาคต่าง ๆ และอาหารแปรรูป โดยความร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งการรณรงค์ "ลดเค็ม ลดโรค" "ลดเค็ม ครึ่งหนึ่ง" โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้และเกิดความตระหนักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นอกจากนี้ สสส. และเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอีกด้วย

"การใช้นโยบายสาธารณะเพื่อลดการบริโภคเกลือในประชากรนั้น มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุนโดยข้อมูลจากการศึกษาในหลายประเทศให้ผลสอดคล้องกัน ถึงความคุ้มค่าและแสดงให้เห็นถึงผลของการลดบริโภคเกลือต่อสุขภาพ รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายของระบบบริการสุขภาพ ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา การลดการบริโภคเกลือในประชากรวันละ 3 กรัมจะส่งผลให้เพิ่มชีวิตคุณภาพ 194,000-392,000 QALYs และประหยัดค่ารักษาพยาบาล 10,000-24,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นั่นหมายถึงการได้รับผลตอบแทน 6-12 ดอลลาร์ต่อทุกดอลลาร์ที่ใช้ในมาตรการควบคุม และการลดการบริโภคเกลือมีความคุ้มค่ามากกว่าการใช้ยาลดความดันโลหิต ส่วนในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง การลดบริโภคเกลือ 15% ในประชากรจะป้องกันการเสียชีวิตได้ 13.8 ล้านคนในเวลา 10 ปี โดยใช้ค่าใช้จ่ายเพียง 0.4 ดอลล่าร์ต่อคนต่อปี ซึ่งการศึกษานี้ ยังไม่ได้รวมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการลดการเจ็บป่วย ความพิการและการเสียชีวิต รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปรับสูตรอาหารในภาคอุตสาหกรรม" ทพญ.จันทนากล่าว

ด้านพญ.โอลิเวียร์ ไนเวรัส แพทย์ด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า WHO กำหนดเป้าหมายการควบคุมโรคไม่ติดต่อในระดับนานาชาติ 9 เป้าหมาย ซึ่งหนึ่งใน 9 เป้าหมายนั้น คือการลดค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมของประชากรทั่วโลกลง 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 โดยต้องการให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับนโยบายของการลดบริโภคโซเดียมเนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรกว่า 3 ล้านคนเสียชีวิตจากการบริโภคโซเดียมมากเกินไป ซึ่งการลดการบริโภคโซเดียมช่วยลดความดันโลหิต และความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก. ต่อวัน (เท่ากับเกลือไอโอดีน 5 กรัม) แต่อย่างไรก็ดีพบว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 3,600-4,800 มก. ต่อวัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่แนะนำอยู่หลายเท่า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละประเทศจะต้องพิจารณาดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มทุนเพื่อการลดการบริโภคโซเดียมของประชากร โดย 1.จะต้องมีการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหาร โดยอาจกำหนดเพดานปริมาณโซเดียม หรือการตั้งเป้าหมายการลดปริมาณโซเดียมแบบบังคับ มีการพัฒนาเมนูลดโซเดียมในร้านอาหาร และมีการใช้มาตรการทางการเงิน (เก็บภาษีหรือให้เงินสนับสนุน)จากภาครัฐ 2.มาตรการองค์กรโดยใช้นโยบายการจัดซื้อและจัดหาอาหารโซเดียมต่ำในโรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทำงาน 3.กำหนดให้ฉลากหน้าบรรจุภัณฑ์แสดงข้อมูลที่ชัดเจน เช่น คำเตือนโซเดียมสูง หรือระบุปริมาณโซเดียมโดยสีสัญญานไฟจราจรและ 4.การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคโซเดียมผ่านการสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมกับการรณรงค์ และสื่อสารกับประชาชนในทุกทิศทาง

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า จึงเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ที่สำคัญในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤตการณ์แพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนหนึ่งทำให้มีผู้คนมากมายติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไตที่อาการมากกว่าคนทั่วไป ในส่วนของการส่งเสริมกิจกรรมลดพฤติกรรมการบริโภคเค็มได้ดำเนินการในทุก ๆ ด้าน โดยผลการสำรวจโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารในปี 2563-2564 ร่วมกับสมาคมเพื่อนโรคไต ได้มีการเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหาร 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มอาหารแช่แข็ง 53 รายการ มีโซเดียมเฉลี่ย 890 มิลลิกรัม/บรรจุภัณฑ์ มากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้ปริมาณโซเดียมจากอาหารหลักควรได้รับไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/มื้อ 2. กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 300 รายการ ได้แก่ บะหมี่ โจ๊กและซุปกึ่งสำเร็จรูป มีโซเดียมเฉลี่ย 1,240 มิลลิกรัม มากกว่า 2 เท่าของคำแนะนำขององค์อนามัยโลกที่กำหนดให้ปริมาณโซเดียมจากอาหารหลักควรได้รับไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/มื้อ 3. กลุ่มขนมขบเคี้ยว 400 รายการ โดยแบ่งเป็นกลุ่มขนมขบเคี้ยวรสชาติเค็ม ได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวเกรียบ ถั่ว สาหร่าย ปลาเส้น 320 รายการ มีค่าโซเดียมเฉลี่ย 201 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้ปริมาณโซเดียมจากอาหารระหว่างมื้อควรได้รับ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อมื้อ และ 4. กลุ่มเครื่องปรุงรส 100 รายการ มีโซเดียมเฉลี่ย 758 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค และเมื่อนำผลการสำรวจมาเทียบเกณฑ์แนะนำของ WHO (sodium benchmark) พบว่า แม้ในแต่ละกลุ่มจะมีบางผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมผ่านเกณฑ์ แต่ค่าเฉลี่ยของโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละกลุ่มล้วนสูงกว่าเกณฑ์ดังกล่าวทั้งสิ้น

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ "ลดการบริโภคเกลือโซเดียม" ในประเทศไทย โดย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ประจำปี 2565 นอกจากจะกำหนดนโยบายและสำรวจเกณฑ์ปริมาณโซเดียมสูงสุดในผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว ยังจัดดำเนินการโครงการลดเค็มเลือกได้ (การอบรมเพื่อพัฒนาเมนูอาหารลดโซเดียมแก่ผู้ประกอบการทางภาคเหนือ) โดยทีมงานดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ นักวิชาการด้านโภชนาการอาหาร, การจัดทำผลสำรวจแนวโน้มปริมาณโซเดียมและลักษณะทั่วไปของอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในประเทศไทย พ.ศ. 2561-2564 และโครงการสำรวจปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในผลิตภัณฑ์ประเภทผงปรุงรส ซึ่งมีประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

ด้าน นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องแนวโน้มปริมาณโซเดียมและลักษณะทั่วไปของอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในประเทศไทย พ.ศ. 2561-2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายแนวโน้มปริมาณโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในประเทศไทย จำแนกตามลักษณะของอาหาร โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ผลการศึกษาพบว่า 1.ค่ามัธยฐานปริมาณโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปในปี 2564 เท่ากับ 1,750.0 มิลลิกรัม/100 กรัม ซึ่งมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับปี 2561 ลักษณะของอาหารที่ปริมาณโซเดียมมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ประเภทข้าวต้มหรือโจ๊ก ผู้ผลิตยี่ห้อหนึ่ง เส้นชนิดบะหมี่ ภาชนะบรรจุแบบถ้วย และอาหารที่ผลิตในประเทศไทยและจีน 2.ค่ามัธยฐานปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์เดียวกันระหว่างปี 2561 และ 2564 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีผลิตภัณฑ์จำนวน 19 รายการ (33.3%) ที่ปรับสูตรปริมาณโซเดียมลดลง และ 3.สัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 เป็นร้อยละ 21.1 ในปี 2561 และปี2564 ทั้งในประเภทบะหมี่ และข้าวต้มหรือโจ๊ก รวมถึงอาหารที่ผลิตในประเทศไทย

ด้านคุณวาสนา นาราศรี นักวิชาการโภชนาการชำนาญการ ฝ่ายโภชนาการและสุขภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขนกล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในผลิตภัณฑ์ประเภทผงปรุงรสที่มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยสูงและไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการให้ถูกต้อง จึงทำให้ผู้บริโภคขาดความตระหนักในการใช้ปรุงอาหารอยู่หลายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด โดยได้ทำการสำรวจจุดจำหน่าย ทั้งซุปเปอร์มาเก็ต ไฮเปอร์มาเก็ต ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออนไลน์ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูล ในการนำไปใช้ประกาศการแสดงฉลากโภชนาการและ GDA รวมถึงใช้ในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสในปริมาณที่เหมาะสม และกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับสูตรผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้มีปริมาณโซเดียมลดลง จากผลการศึกษามีผลิตภัณฑ์ผงปรุงรส ทั้งหมด 252 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งมีปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์เฉลี่ยในผลิตภัณฑ์ผงปรุงรส กลุ่มต่าง ๆ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ดังแสดงในภาพ) จะเห็นว่าปริมาณโซเดียมมีผลกับระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉลี่ยแล้วไม่ควรเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ในผลิตภัณฑ์ประเภทผงปรุงรสที่มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยสูงกว่า 600 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ได้แก่ ผงปรุงรส 35 ตัวอย่างใน 56 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ผงปรุงอาหารสำเร็จรูป 90 ตัวอย่างใน 109 ตัวอย่าง (ร้อยละ 82) และผงทำน้ำซุป 18 ตัวอย่างใน 21 ตัวอย่าง (ร้อยละ 85) ส่วนซุปก้อน 20 ตัวอย่าง ผงชูรส 8 ตัวอย่างและผงปรุงรสสำหรับขนมขบเคี้ยว 38 ตัวอย่าง ผลที่ได้จากการสำรวจยังมีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่ำกว่า 600 มิลลิกรัม แต่โซเดียมที่อยู่ในเครื่องปรุงรสเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์) จึงทำให้รสชาติไม่เค็มแต่มีโซเดียมสูง ทางด้านผลิตภัณฑ์ประเภทผงปรุงรสสูตรลดโซเดียม พบว่า มีซุปก้อนสูตรลดโซเดียม 2 ตัวอย่างใน 20 ตัวอย่าง (ร้อยละ 10) ปริมาณโซเดียมลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 88.1 ผงปรุงรสสูตรลดโซเดียมมี 20 ตัวอย่างใน 56 ตัวอย่าง (ร้อยละ 35.7) ปริมาณโซเดียมลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 36 และผงทำน้ำซุปสูตรลดโซเดียมมี 2 ตัวอย่างใน 21 ตัวอย่าง (ร้อยละ 9.5) ปริมาณโซเดียมลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 36.3% ดังนั้นแนวทางในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทผงปรุงรส จึงควรเลือกที่มีฉลากโภชนาการและใช้ในปริมาณที่เหมาะสมหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สูตรลดโซเดียม

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.)

สสส.และเครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับ WHO สร้างยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือโซเดียม ให้ได้ภายในปี 2568

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง