EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.2% จากแรงส่งของการท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 3.4%

จันทร์ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๐๒๒ ๑๑:๕๙
EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.2% (เดิม 3.0%) จากแรงส่งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น สำหรับปี 2566 EIC ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็น 3.4% (เดิม 3.7%) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น บางประเทศหลักจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้การส่งออกและการลงทุนของไทยชะลอลงตาม อย่างไรดี เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะยังมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งขึ้น โดย EIC ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28.3 ล้านคนในปี 2566 จากความต้องการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับสูงและจีนมีแนวโน้มทยอยผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid อีกทั้ง การท่องเที่ยวในประเทศเติบโตดีกลับไปใกล้ระดับก่อน COVID-19 ส่งผลให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ยังเปราะบาง สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะทยอยลดลงได้ช้าและยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายอยู่ที่ 6.1% และ 3.2% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อเนื่องไปเงินเฟ้อพื้นฐาน
EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.2% จากแรงส่งของการท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 3.4%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "เศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนในปีนี้ และจะชะลอลงมากในปีหน้าภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทั้งจากเงินเฟ้อที่ลดลงช้า วิกฤตพลังงานยืดเยื้อ และนโยบายการเงินเข้มงวดทั่วโลก บางประเทศหลักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้ เช่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ขณะที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2565 ลงจาก 3.0% มาอยู่ที่ 2.9% และปีหน้าลดจาก 2.7% มาอยู่ที่ 1.8% โดยในกรณีฐาน EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หลายประเทศยังเติบโตได้ เช่น เศรษฐกิจจีนจะฟื้นดีขึ้นตามการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid อย่างไรก็ดี หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดอาจทำให้เกิดกรณีเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศรุนแรง หรือเงินเฟ้อกลับมาเร่งสูงจนทำให้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น"

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า "อัตราเงินเฟ้อโลกจะยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง แม้เงินเฟ้อบางประเทศผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดย EIC คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศหลักจะยังสูงกว่าเป้าหมายธนาคารกลางอีก 1-2 ปี เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มฝังลึก รวมถึงอุปสงค์บริการที่จะเพิ่มขึ้น หลังอุปสงค์สินค้าคงทนทยอยปรับลดลงกลับสู่ภาวะปกติ ธนาคารกลางจึงจะยังคงทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวในปีหน้า โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าลง แต่จะยังคงดอกเบี้ยสูงอีกระยะ จนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในเป้า สำหรับนโยบายการคลังทั่วโลกจะมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง และเน้นความยั่งยืนการคลังมากขึ้นหลังจากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากในช่วงวิกฤต COVID-19 นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวนสูงขึ้น สภาพคล่องในตลาดการเงินและภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้นมาก นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง (Risk-off) มากขึ้นตั้งแต่ต้นปี ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกลดลงมาก ซึ่งจะกระทบความมั่งคั่งและการบริโภคในระยะข้างหน้า"

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า "EIC มองเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว แต่ฟื้นไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคจะเป็นฟันเฟืองหลักช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่แรงส่งจากการส่งออกและการลงทุนจะชะลอลงมาก ค่าครองชีพและต้นทุนภาคธุรกิจจะยังสูงอยู่ ทำให้รายได้ครัวเรือนบางกลุ่มโตไม่ทันรายจ่าย และธุรกิจฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน เห็นได้จากจำนวนครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่เพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 อยู่ที่ 2.1 ล้านครัวเรือนหรือเพิ่มขึ้น 24% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่างกัน กลุ่มที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวการบริโภคหรือสอดรับกับเทรนด์โลกจะฟื้นตัวเร็ว แต่บางกลุ่มธุรกิจจะยังมีความเสี่ยงและฟื้นตัวช้าจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือได้รับผลกระทบจากเมกะเทรนด์"

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า "เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งความไม่แน่นอนภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตไม่สดใสนักในปี 2566 แม้ในกรณีฐาน EIC ประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทย
จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีไม่มาก โดยจะกลับสู่ระดับศักยภาพได้ ณ สิ้นปี 2567 แต่หากธนาคารกลางหลักของโลกขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่ากรณีฐานอีก 100 BPS ในปี 2566 เช่น Fed ขึ้นดอกเบี้ยถึง 5.75 - 6.00 % จะเป็นปัจจัย Trigger ให้เกิดกรณีเศรษฐกิจโลกถดถอย ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแทบไม่ขยายตัว โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในกรณีนี้จะเพิ่มขึ้นเกิน 80% ในปีหน้า อย่างไรก็ดี ภาครัฐยังมีความสามารถเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนดังกล่าวที่อาจมากระทบเศรษฐกิจไทย แม้พื้นที่การคลังจะเหลือน้อยลงหลังผ่านวิกฤต COVID-19 มาได้

EIC มองว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 25 BPS สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ และปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าสู่ระดับ 2% เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว โดย ธปท. จะประเมินจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ให้มั่นใจว่า Policy normalization ทั้งนโยบายการเงินและมาตรการการเงินที่จะทยอยหมดอายุในปีหน้า จะไม่ทำให้ภาวะการเงินตึงตัวเร็วมากจนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและไม่แน่นอนสูง

สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องไปถึงปีหน้า สาเหตุหลักจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่ช้าลง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนโลกต่อการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงที่จะปรับดีขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทจะยังได้ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทย รวมถึงเงินเฟ้อไทยที่จะลดลงเร็วกว่าของสหรัฐฯ EIC จึงประเมินว่า เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 36-37 บาท ณ สิ้นปีนี้ และจะทยอยแข็งค่าต่อเนื่องอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาท ณ สิ้นปี 2566"

ดร.ฐิติมา ทิ้งท้ายว่า "เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในระยะต่อไป คือ (1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกดดันการส่งออกและลงทุน (2) นโยบาย Zero-Covid ของจีนที่ยังไม่แน่นอนกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออก
(3) เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง หนี้สูง กดดันการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง และ (4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน"

โดย : ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ([email protected])
รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ([email protected])
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน
EIC Online: www.scbeic.com
Line : @scbeic

ที่มา: ธนาคารไทยพาณิชย์

EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.2% จากแรงส่งของการท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2566 เป็น 3.4%

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง