ชักชวนซื้อหุ้นแบบนี้ ฉุกคิดให้ดี ระวังถูกหลอก

ศุกร์ ๐๙ ธันวาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๕๗
ภัยกลโกงไม่เข้าใครออกใคร บางทีอาจมาถึงตัวเราง่าย ๆ ผ่านการชักชวนให้ร่วมเป็นเจ้าของกิจการด้วยการถือหุ้น โอ้ เป็นเจ้าของธุรกิจง่าย ๆ แค่ซื้อหุ้นที่เขาเสนอขายเท่านั้นเอง แต่จะง่ายแบบนั้นจริงหรือ
ชักชวนซื้อหุ้นแบบนี้ ฉุกคิดให้ดี ระวังถูกหลอก

ปัจจุบันในยุคที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงโลกออนไลน์ และใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ผู้ไม่หวังดีสามารถเข้ามาชักชวนให้ระดมทุนด้วยการโฆษณาชวนเชื่อประกาศขายหุ้นออกสื่อโซเชียลที่แพร่หลายในวงกว้างได้เหมือนกันก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นที่ประกาศชักชวนทางออนไลน์ มาดูให้รู้เท่าทันกันก่อนในเบื้องต้น 3 เรื่อง

รู้เท่าทัน 1 : เกณฑ์การขายหุ้น

กรณีเป็นบริษัทจำกัด ไม่สามารถชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้นได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1102* และหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัดนั้น มีมติพิเศษให้เพิ่มทุน กรรมการของบริษัทมีหน้าที่ต้องเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ถ้าผู้ถือหุ้นเดิมคนใดไม่ซื้อ ผู้ถือหุ้นเดิมจะซื้อหุ้นนั้น หรือกรรมการจะซื้อไว้เองก็ได้ จะเสนอขายให้บุคคลภายนอกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1222*

ในกรณีที่ต้องการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จะต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) และต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) คือ ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และมีหนังสือชี้ชวนให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน

อย่างไรก็ดี มีกรณีที่คณะกรรมการ กตท. ออกประกาศตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ยกเว้นให้บริษัทจำกัดสามารถเสนอขายหุ้นต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การเสนอขายผ่านระบบคราวด์ฟันดิง** ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ฉะนั้น หากพบเห็นการเสนอขายหุ้นของบริษัทผ่านสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ให้ฉุกคิดและตั้งคำถามไว้ก่อนว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

รู้เท่าทัน 2 : ลักษณะการชักชวนที่ต้องระวัง

หากการชักชวนให้ลงทุนด้วยการซื้อหุ้นนั้น พ่วงมากับการเสนอผลตอบแทนหรือเงินปันผลสูงเกินจริง เช่น 12% ต่อเดือน หรือ 20% ต่อเดือน และยังการันตีผลตอบแทนด้วย ยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น และควรถอยหนีออกมา

เพราะหากพิจารณาตามหลักความเป็นจริง แม้แต่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารทุนยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 10% ต่อปี[ อ้างอิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลตอบแทนจากหุ้นไทยระหว่างปี 2539-2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 8 - 12% ต่อปี https://www2.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=6416&type=article ] เท่านั้น เมื่อมีการเสนอผลตอบแทนหรือปันผลถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี

ต้องฉุกคิดไว้ก่อนว่า เป็นไปได้หรือไม่ นำรายได้มาจากไหน เพราะไม่แน่ว่า อาจจะเป็นการนำรายได้จากผู้ที่มาทีหลังจ่ายให้ผู้ที่มาก่อนตามสไตล์แชร์ลูกโซ่

แน่นอนว่า ผู้ชักชวนจะพยายามสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการไปจดทะเบียนบริษัทไว้ก่อน โพสต์ภาพความสำเร็จหรือผลงานออกสื่อ พาตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่สื่อ สร้างสตอรี่ผ่านภาพให้เห็นการขยายธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นแพทเทิร์นที่เห็นได้บ่อยครั้งในการจูงใจ

ลองสังเกต 5 รูปแบบชักชวนลงทุนที่มักจะมาใช้จูงใจ

  1. ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง เช่น 12% ต่อเดือน หรือ 20% ต่อเดือน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้
  2. การันตีผลตอบแทน ซึ่งการลงทุนทั่วไปมักจะไม่สามารถการันตีให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงที่แน่นอนได้
  3. เร่งรัดให้ตัดสินใจ อ้างว่าจะตกขบวน เพราะใคร ๆ ก็ลงทุน
  4. แอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
  5. ธุรกิจไม่ชัดเจน จับต้องไม่ได้ เน้นขายหุ้นระดมทุนมากกว่าการทำธุรกิจจริง

หากพบการชักชวนที่เข้าข่ายรูปแบบ 5 ข้อดังกล่าว ต้องระวังให้มากอย่าเพิ่งหลงเชื่อเด็ดขาด

รู้เท่าทัน 3 : ช่องทางตรวจสอบ

เมื่อถูกชักชวนหรือพบเบาะแสการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ซื้อหุ้น ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัท บุคคล และผลิตภัณฑ์ (หุ้น) ที่มาเสนอขายว่าได้รับอนุญาตหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่ ได้ทางแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือทาง เว็บไซต์ www.sec.or.th หากไม่พบรายชื่อ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะมาด้วยความไม่หวังดี นอกจากนี้ ยังตรวจสอบรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังที่หมวด Investor Alert ได้อีกทางหนึ่งด้วย

และถ้าหากอ้างว่าลงทุนแล้ว จะได้รับใบหุ้นด้วย ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ใบหุ้นนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และมีชื่อในรายชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ เพราะเพียงได้ใบหุ้นมา ยังไม่ได้การันตีว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว หากไม่มีรายชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้น ใบหุ้นที่ถืออยู่อาจไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย

ปกป้องตนเองจากการถูกหลอก ด้วยการสังเกตและฉุกคิด เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยจากบทเรียนภัยกลโกงที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เมื่อถูกชักชวนให้ลงทุนหรือซื้อหุ้น อย่าเพิ่งหลงเชื่อ เพราะการตกขบวนไม่น่ากลัวเท่าการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ที่มา: ก.ล.ต.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว