TBN ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO จำนวน 25 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาด mai

อังคาร ๑๓ ธันวาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๔๙
"บมจ. ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น หรือ TBN" ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ 25 ล้านหุ้น เข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นำเงินขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
TBN ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO จำนวน 25 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาด mai

นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก โดยมีจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมดที่เสนอขายให้นักลงทุนครั้งนี้ จำนวน 25 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

การระดมทุนดังกล่าวจะนำไปใช้รองรับการเติบโตของ TBN เพิ่มความน่าเชื่อถือรวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งนี้บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร บริษัทฯ เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นและพัฒนาโซลูชั่นตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้ซอฟต์แวร์ Low-Code Development Platform (Low Code) ของ MENDIX ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน หรืองานดิจิทัลโซลูชั่นได้รวดเร็วกว่าการพัฒนาแบบดั้งเดิม (High Code)

ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ MENDIX ของ Siemens รายแรกในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีเพียงรายเดียว พร้อมด้วยประสบการณ์และทีมงานผู้เชี่ยวชาญในด้านการให้บริการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์มากว่า 15 ปี

การให้บริการของบริษัทฯ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้คือ

  1. งานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร ได้แก่ งานพัฒนาระบบดิจิทัล (Digital Solution Services) งานสนับสนุนและบำรุงรักษาระบบ (Technical Support and Maintenance) และงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อยอดจากที่ได้พัฒนาและติดตั้งลงบนระบบของลูกค้า (Technical Consultancy Services)
  2. งานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ได้แก่ การให้ใช้สิทธิ์โปรแกรม MENDIX (MENDIX License) และการให้บริการคลาวด์ (Cloud Services) โดยให้บริการให้เช่าพื้นที่บนคลาวด์จากผู้ให้บริการคลาวด์

สำหรับด้านงานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่องของบริษัทฯ ได้แก่ งานพัฒนาระบบดิจิทัล (Digital Solution Services) ธุรกิจให้บริการงานพัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน หรืองานดิจิทัลโซลูชั่นตามความต้องการของลูกค้าผ่านแพลตฟอร์ม MENDIX Low-Code Platform ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถผลิตแอปพลิเคชันได้เร็วกว่าการพัฒนาแบบดั้งเดิม (high code) และมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อช่วยร่นระยะเวลาที่แอปพลิเคชันออกสู่ตลาด (time-to-market) โดยงานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่องเป็นบริการที่สร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทฯ สำหรับระยะเวลาที่ใช้การพัฒนาระบบเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของลูกค้านั้น ถ้าระบบไม่มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน แต่ถ้าระบบมีความซับซ้อนสูงระยะเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ตามข้อกำหนดในสัญญา

งานสนับสนุนและบำรุงรักษาระบบ (Technical Support and Maintenance) ให้บริการงานสนับสนุนและบำรุงรักษาระบบหลังจากที่ได้ส่งมอบงานให้กับลูกค้าภายใต้ระยะเวลาให้บริการหลังการขายตามสัญญา (MA Period) เป็นบริการดูแล และบำรุงรักษาระบบโปรแกรมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกระดับการรับบริการที่จะถูกระบุไว้ในสัญญาการให้บริการบำรุงรักษา (SLA) และระยะเวลาในการให้บริการบำรุงรักษาส่วนมากจะมีระยะเวลาประมาณ 1-5 ปี

ในงานบริการให้คำปรึกษา (Technical Consultancy Services) บริษัทให้คำปรึกษาและพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อยอดจากระบบที่ลูกค้าได้ดำเนินการติดตั้งแล้ว เนื่องจากลูกค้าของบริษัทฯ ส่วนมากเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีความต้องการในการใช้ระบบซอฟต์แวร์ค่อนข้างสูง บริษัทฯ จะให้บริการให้คำปรึกษาแก่บริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินการซื้อ MENDIX License และต้องการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เอง โดยบริษัทจะจัดการอบรบเพื่อความเข้าใจในการทำงานของ MENDIX รวมถึงมีการจัดสอบเพื่อให้นักพัฒนาของลูกค้าได้มีใบ Certificate ผ่านการรับรองจาก MENDIX ในความสามารถการพัฒนาแอปพลิเคชันผานระบบ MENDIX Low-Code Platform

ในส่วนของงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี คือการให้ใช้สิทธิ์โปรแกรม MENDIX (MENDIX License) โดยบริษัทฯ ได้รับแต่งตั้งจาก Siemens ให้เป็นตัวแทนจำหน่าย MENDIX อย่างเป็นทางการ (Authorized Reseller) รายแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2551 บริษัทฯ เสนอ MENDIX License ให้ลูกค้าเลือกหลายแพ็กเกจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยพิจารณาจากจำนวนซอฟต์แวร์ที่ลูกค้ามีแผนที่จะพัฒนาและจำนวนผู้ใช้งาน (Users) เพื่อเสนอแพ็กเกจให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้าโดยผู้ใช้งานจะต้องสมัครใช้บริการโดยเป็นสัญญารายปี

การให้บริการคลาวด์ (Cloud Services) โดยให้บริการให้เช่าพื้นที่บนคลาวด์จากผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำของโลก เช่น Amazon Web Services, MENDIX Cloud รวมถึงผู้ให้บริการชั้นนำในไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ออกแบบ Infrastructure ให้เหมาะสมตามจำนวน Users ที่คาดว่าจะเข้ามาใช้งาน การตั้งค่าระบบ (Configuration) รวมไปถึงการให้บริการบริหารจัดงานและบำรุงรักษาหลังจากที่ได้มีการ Implement ระบบให้กับลูกค้าแล้ว (Managed and Maintenance Service) เพื่อให้การทำงานของระบบ Cloud เป็นไปอย่างราบรื่น

นอกจากนี้ TBN ยังมีบริษัท บ๊อพ จำกัด (BOP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิม (High Code) เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการระบบซอฟต์แวร์ที่ต้องการการปรับแต่งที่สูงขึ้น การให้บริการทั้ง Low Code และ High Code เป็นกลยุทธ์ของบริษัทฯ ทำให้สามารถนำเสนองานได้ยืดหยุ่น หลากหลายตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ทั้งในแง่ ความเร็วในการพัฒนา งบประมาณ และการปรับแต่งให้ครอบคลุมตามความต้องการ

โดย TBN มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions แบบครบวงจร (One Stop Service) ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในเอเชีย และมีเป้าหมายในการขยายตลาดการให้บริการการพัฒนาแอปพลิเคชันของบริษัทฯ และขยายขอบเขตการขายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (License) ไปสู่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลากหลายในภูมิภาคเอเชีย

ด้านนางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ TBN กล่าวถึงภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2564) รายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ มีจำนวนเท่ากับ 130.38 ล้านบาท 215.73 ล้านบาท และ 291.19 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 65.47 และร้อยละ 34.98 ตามลำดับ และสำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 2564 และปี 2565 เท่ากับ 198.12 ล้านบาท และ 243.96 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 45.44 ล้านบาท 87.61 ล้านบาท และ 84.04 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 34.85 ร้อยละ 40.61 และร้อยละ 28.86 ตามลำดับ และในงวด 9 เดือนของปี 2564 และปี 2565 มีกำไรสุทธิ 58.70 ล้านบาท และ 26.52 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 29.63 และร้อยละ 10.87 ตามลำดับ

"โดยรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นเนื่องจากลูกค้าองค์กรให้ความสำคัญด้าน Digital Transformation โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรอย่างมีกลยุทธ์ มีการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กรมากขึ้นทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน การพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้สามารถนำข้อมูลของลูกค้าไปวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้งานต่อได้หลากหลายรูปแบบและแม่นยำมากขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจธนาคาร การเงินและประกันภัย กับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก" นางสาวเดือนพรรณ กล่าว

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ในปี 2565-2567 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คาดการณ์ว่าในปี 2565 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตร้อยละ 11.70 ด้วยมูลค่ารวม 183,051 ล้านบาท และคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลัง COVID-19 คลี่คลาย ที่เป็นรูปธรรม จึงทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นส่งผลให้ตลาดซอฟต์แวร์กลับมาเติบโต รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ยังคงอยู่ จึงยังมีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องตามไปด้วย โดยในปี 2566 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเติบโตขึ้นร้อยละ12.10 ด้วยมูลค่ารวมราว 205,200 ล้านบาท การดำเนินวิถีใหม่ (New Normal) ยังคงอยู่และจะคงอยู่ตลอดไป ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องสรรหาเครื่องมือที่จะทำให้เข้าถึงลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งไอทีและซอฟต์แวร์จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

ที่มา: ไออาร์ พลัส

TBN ยื่นไฟลิ่งเสนอขาย IPO จำนวน 25 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาด mai

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๕ TRP คว้ารางวัลเกียรติยศ Siamrath Awards 2024 ตอกย้ำ ผู้นำศัลยกรรมตกแต่งเฉพาะบนใบหน้าของประเทศไทย
๑๑:๔๖ ผถห.PIMO-ไพโม่ อนุมัติปันผลงวดครึ่งหลังปี 66 หุ้นละ 0.03 บาทต่อหุ้น
๑๑:๑๘ การประชุมเตรียมงาน10 รอบ นักษัตรพระราชสมภพ
๑๑:๐๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เชิญชวนช่วยกัน ลด ละ เริ่ม เพื่อโลกยั่งยืน ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of
๑๐:๑๔ 1 พ.ค. นี้ เตรียมพบกับฟิตเนสแห่งใหม่ ใจกลางศรีนครินทร์ กับบริการครบครัน ใกล้บ้านคุณ BB FITNESS@พาราไดซ์
๑๐:๑๐ HUAWEI Band 9 จับมือ 3 แพลตฟอร์ม Amado Shopping ช่องทางออนไลน์ Lazada และ Shopee ให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สมาร์ทวอทช์ด้วยราคาสมาร์ทแบนด์
๑๐:๔๙ ห้องอาหาร นิมมาน บาร์ แอนด์ กริล พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบจัดเต็มกับ เทศกาลบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุดพิเศษ และ บุฟเฟ่ต์ Carvery Night
๑๐:๓๔ TSPCA จัดประชุมสามัญประจำปี 2567 เตรียมความพร้อมสู่สามทศวรรษสวัสดิภาพสัตว์เพื่อก่อเกิด สวัสดิภาพคน
๑๐:๓๒ พด. มุ่งพัฒนาศักยภาพดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เสริมศักยภาพเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
๑๐:๐๔ ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ มอบของบริจาค พร้อมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ