จุฬาฯ วิจัยเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนก่อนสูญพันธุ์สร้างสมดุลระบบนิเวศใต้ทะเล

อังคาร ๒๔ มกราคม ๒๐๒๓ ๑๐:๓๖
ปะการังอ่อน หรือ Soft Coral ถือเป็นปะการังที่มีความสวยงามและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ความแปรปรวนของภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน รวมถึงการคุกคามจากมนุษย์ด้วยกิจกรรมต่าง ส่งผลให้จำนวนชนิดและความสมบูรณ์ของปะการังอ่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก
จุฬาฯ วิจัยเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนก่อนสูญพันธุ์สร้างสมดุลระบบนิเวศใต้ทะเล

ปะการัง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือปะการังแข็ง ซึ่งมีโครงสร้างหินปูนและมีปะการังเติบโตขึ้นมา อีกประเภทหนึ่งคือปะการังอ่อน ซึ่งไม่มีโครงสร้างหินปูน ทั้งปะการังอ่อนและปะการังแข็งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เมื่อปะการังทั้งสองประเภทเจริญเติบโตจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด ทำให้ทะเลเกิดความสมบูรณ์และความหลากหลาย เป็นแหล่งของนักดำน้ำดูปะการัง รวมทั้งมีความสำคัญต่อการประมงพื้นบ้าน

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์และเลี้ยงปะการังอ่อนด้วยระบบการทำฟาร์มบนบกและในทะเล เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งที่เสื่อมโทรมในประเทศไทย รวมทั้งมุ่งหวังพัฒนาให้เป็นสัตว์ทะเลเศรษฐกิจประเภทสวยงามชนิดใหม่สำหรับธุรกิจปลาตู้น้ำทะเลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งการจำหน่ายภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้ปะการังอ่อนยังมีประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย มีรายงานว่าปะการังอ่อนบางชนิดเมื่อนำมาสกัดแล้วจะได้สารบางชนิดที่ยังยั้งเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยขั้นต่อยอดโดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เกี่ยวกับองค์ประกอบทางชีวเคมีในปะการังอ่อนทั้งสามชนิดคือ ปะการังอ่อนหนังดอกเห็ด ปะการังอ่อนนิ้วมือ และปะการังอ่อนนิ้วมือสีดำ

ผศ.ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ปะการังอ่อนเพื่อใช้ประโยชน์เชิงการค้าและการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของไทย มีที่มาจากการที่ปะการังอ่อนทุกชนิดเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย ห้ามเก็บจากทะเล ห้ามซื้อขาย และห้ามมีไว้ครอบครอง ความสวยงามของปะการังอ่อนส่งผลต่อความต้องการของธุรกิจปลาตู้น้ำทะเลสวยงามและบ่อเลี้ยงสัตว์ทะเล ทำให้มีการลักลอบเก็บปะการังอ่อนจากทะเล รวมทั้งมีการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้จากงานวิจัยยังพบว่าแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีประชากรปะการังอ่อนทุกชนิดน้อยมากทั้งในแง่ความหลากหลายและความหนาแน่น

"ปัจจุบันจำนวนของปะการังอ่อนลดลงในทุกพื้นที่ หากไม่ทำอะไรเลย แนวโน้มที่ปะการังอ่อน จะสูญพันธุ์ก็ใกล้เข้ามาทุกที หากเราสามารถเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนได้จะช่วยให้มีพันธุ์ปะการังอ่อนและขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติได้" ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้นำปะการังอ่อนที่พบที่เกาะ สีชังมาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ขณะนี้ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อน 3 ชนิด คือ ปะการังอ่อนหนังดอกเห็ด ปะการังอ่อนนิ้วมือ และปะการังอ่อนนิ้วมือสีดำ โดยสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ทั้งนี้ การเพาะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ ได้นำพ่อแม่พันธุ์ปะการังอ่อนจากทะเลมาเพาะเลี้ยงในบ่อและกระตุ้นให้มีการปล่อยไข่และสเปิร์มเพื่อนำมาผสมพันธุ์ จากนั้นเพาะเลี้ยงอนุบาลจนเป็นตัวอ่อนและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพบว่าปะการังอ่อนทั้งสามชนิดเจริญเติบโตได้ดี

สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศหรือการแตกหน่อ ผศ.ดร.นิลนาจเผยว่า ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคพิเศษในการตัดเนื้อเยื่อจากพ่อแม่พันธุ์ชิ้นเล็กที่สุดเพียง 0.5 - 1 ซม. และนำชิ้นเนื้อมาเลี้ยงในบ่อ เป็นการเลี้ยงในลักษณะฟาร์มบนบก โดยมีการควบคุมปัจจัยสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งพบว่าชิ้นเนื้อปะการังดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตจนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 - 5 ซม. ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ปะการังอ่อนจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปะการังแข็ง เนื่องจากไม่ต้องสร้างโครงสร้างหินปูนภายใน ถือเป็นความสำเร็จของทีมวิจัยที่พัฒนาเทคนิคการตัดชิ้นเนื้อปะการังอ่อนมาเพาะเลี้ยงต่อได้โดยที่พ่อแม่พันธุ์ไม่ตาย ที่สำคัญคือเมื่อชิ้นเนื้อของปะการังอ่อนในพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกตัดไปเจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ ก็สามารถตัดเพื่อนำไปเพาะขยายพันธุ์ได้อีก

"จากปัญหาโลกร้อนซึ่งทำให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาว ปะการังอ่อนจะมีสาหร่ายตัวหนึ่งที่อยู่ในเนื้อเยื่อซึ่งสามารถสังเคราะห์แสงได้ อาหารหรือพลังงานทั้งหมดประมาณ 80% ของปะการังอ่อนได้จาก การสังเคราะห์แสงของสาหร่ายตัวนี้ ดังนั้นถ้าเราขยายพันธุ์หรือฟื้นฟูปการังอ่อนในทะเลให้มีจำนวนมาก จะมีส่วนช่วยเรื่องของโลกร้อน สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำและในอากาศได้" ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าว

ผศ.ดร.นิลนาจ กล่าวย้ำว่างานวิจัยทางด้านปะการังอ่อนจำเป็นต้องใช้ความรู้ในหลายศาสตร์มาบูรณาการร่วมกัน ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์ทะเลเกาะสีชังโดยชุมชนเพื่อชุมชนยั่งยืนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการทำฟาร์มต้นแบบการขยายพันธุ์ปะการังอ่อนแบบการทำฟาร์มบนบก พร้อมทั้งเปิดโอกาสแก่นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขยายพันธุ์ปะการังอ่อน ที่ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรีอีกด้วย

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

จุฬาฯ วิจัยเพาะขยายพันธุ์ปะการังอ่อนก่อนสูญพันธุ์สร้างสมดุลระบบนิเวศใต้ทะเล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง