ม.มหิดล วิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า และรักษาคุณภาพสินค้าเกษตร

ศุกร์ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๓ ๑๐:๒๓
ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ ในแต่ละปีประเทศไทยส่งออกลำไยสดไปทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท เป็นที่ต้องการมากจนต้องมองหา "ลำไยนอกฤดู" แต่อุปสรรคสำคัญกลับไม่ได้มาจากคุณภาพของลำไยเป็นปัจจัยหลัก แต่มักเกิดจากการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ และวิธีการขนส่งที่ไม่เหมาะสม
ม.มหิดล วิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า และรักษาคุณภาพสินค้าเกษตร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริยุภา เนตรมัย และ อาจารย์ ดร.ฐิติศิลป์ กิจเชวงกุล คณาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ (สวก.) เพื่อออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ลำไยสด และศึกษาระบบการขนส่งทางไปรษณีย์ จนสามารถหาทางออกให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนลำไยชาวไทยให้สามารถสู้วิกฤติเศรษฐกิจส่งสินค้าด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

เพียงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดพอดี เพื่อไม่ให้ผลลำไยหลุดออกจากพวง เพราะจะทำให้สูญเสียมูลค่า และวางแผนการขนส่งโดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าระหว่างการขนส่ง เช่น อุณหภูมิ และแรงกระแทก

ทีมวิจัยพบว่าแรงกระแทกเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ลำไยสดได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง โดยแรงกระแทกที่จะทำให้ผลลำไยหลุดออกจากขั้ว จะไม่เท่ากับแรงกระแทกที่ทำให้ผลลำไยเสียหาย ดังนั้นจึงจะต้องนำทั้งสองปัจจัยมาใช้ในการคำนวณเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความหนาและแข็งแรงมากพอร่วมด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริยุภา เนตรมัย สนใจทำงานวิจัยออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประกอบการชาวไทยให้สามารถขายผลผลิตได้ราคาดี ลดปัญหาทางเศรษฐกิจและการสูญเสียอาหารลง

ซึ่งนอกจากผลงานการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ลำไยสดแล้ว ยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผักเคล หรือ "คะน้าฝรั่ง" ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่าเป็นหนึ่งใน"ซุปเปอร์ฟู้ด" ของคนรุ่นใหม่ เป็นที่ยอมรับถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นเลิศ

โดยนำมาทำเป็น "ผักเคลอบกรอบสัญชาติไทย" ที่ใช้เอกลักษณ์ของอาหารไทย ปรุงรสต้มยำ และเมี่ยงคำที่ถูกปากคนไทย นอกจากนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนานำผักเคลมาใช้ห่ออาหารเพื่อรับประทาน (Edible wrap) อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เป็นผลผลิตทางวิชาการอันทรงคุณค่าจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 9 (Industry, Innovation and Infrastructure) และข้อ 12 (Responsible Consumption and Production) สู่การเป็นประเทศนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของชาติที่ยั่งยืนได้ต่อไปในที่สุด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ม.มหิดล วิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า และรักษาคุณภาพสินค้าเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว