สดช. ผนึก ม.เทคโนโลยีมหานคร มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ 'ผู้สร้าง' ในเวทีการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ ภายใต้กิจกรรมขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO)

จันทร์ ๒๗ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๐:๓๙
เมื่อพูดถึงดาวเทียมหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ คนส่วนใหญ่มักมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริง ผลผลิตจากนวัตกรรมอวกาศแทรกซึมอยู่ในวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ตื่นนอนที่สามารถรับชมรายการทีวีต่างๆ หรือขับรถออกจากบ้านก็สามารถใช้แอพพลิเคชันระบบนำทาง นอกจากนั้นเรายังสามารถคาดการณ์สภาพดินฟ้าอากาศที่ทำให้เรารู้ว่าเราควรต้องเตรียมตัวรับสภาพอากาศแบบไหน หรือการเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น พายุ ไฟป่า หรือน้ำท่วม ทำให้สามารถป้องกันและบรรเทาการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเราทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศอยู่แล้วเพียงแต่ไม่รู้ตัว ขณะเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่าประเทศไทยยังมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 35,000 กิจการ โดย 95% เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (SMEs) และ Start-up ซึ่งกิจการต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี
สดช. ผนึก ม.เทคโนโลยีมหานคร มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ 'ผู้สร้าง' ในเวทีการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ ภายใต้กิจกรรมขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO)

ดร.พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้หลอมรวมกับเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดาวเทียม ทำให้ต้นทุนการสร้างมีราคาถูกลง เพราะดาวเทียมไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่อีกต่อไป ผู้ที่สามารถออกแบบและสร้างดาวเทียมไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเท่านั้น ที่ผ่านมา เยาวชนไทยได้พิสูจน์ผลงานด้านการออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ คว้ารางวัลและสร้างเกียรติยศให้กับประเทศนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งประเทศไทยไม่เคยขาดคนเก่ง เพียงแต่เวทีที่จะสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพยังมีอยู่จำกัด

รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมเพื่อสร้างขีดความสามารถของบุคลากรภายในประเทศด้านการออกแบบดาวเทียม การกำหนดภารกิจ การสร้างและประกอบดาวเทียมขนาดเล็ก เช่น ดาวเทียม CubeSat เนื่องจากดาวเทียมขนาดเล็กมีต้นทุนการผลิตต่ำแต่สามารถใช้งานตอบโจทย์ได้ทั้งเชิงพาณิชย์หรือภารกิจเฉพาะทางได้มากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ หรือ New Space Economy ของประเทศไทย ซึ่งการได้ร่วมมือกับนานาชาติ เช่น องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Space Cooperation Organization: APSCO) ส่งผลให้ได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดองค์ความรู้ของเทคโนโลยีที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการออกแบบและสร้างดาวเทียม ถือเป็นหนึ่งในกลไกหรือเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้ผลักดันให้บุคลากรของประเทศไทยได้บูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างดาวเทียม อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ มาใช้ในการประดิษฐ์และแก้ปัญหาผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

โครงการ APSCO CubeSat Competition (ACC) เป็นโครงการหนึ่งของ APSCO ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการพัฒนาดาวเทียม CubeSat ให้แก่ประเทศสมาชิกทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ปากีสถาน อิหร่าน เปรู มองโกเลีย บังคลาเทศและทูร์เคีย ผ่านการแข่งขันการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรม (Engineering Model) ที่มีขนาดรวมไม่เกิน 3U ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบภารกิจ การออกแบบดาวเทียม จนกระทั่งสามารถสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมได้ด้วยตนเอง โดยให้แต่ละประเทศสมาชิกทำการคัดเลือกทีมเยาวชนเข้าแข่งขันจำนวน 5 ทีม (ทีมละ 5 คน) ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อให้ผลการสร้างดาวเทียมในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากล จากนั้นจึงทำการคัดเลือกหนึ่งทีมสุดท้ายที่มีศักยภาพสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อรับทุนสนับสนุนการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมเป็นจำนวน 100,000 USD (ประมาณ 3 ล้านบาทเศษ)

การเปิดตัวโครงการ ACC-Thailand ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานของโครงการ ACC ที่ สดช. รับผิดชอบในนามของประเทศไทย ซึ่ง สดช. ได้เล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และมุ่งมั่นส่งเสริมเทคโนโลยีดาวเทียมและกิจการอวกาศมายาวนานกว่า 25 ปี จึงไว้วางใจเสนอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนโครงการ ACC-Thailand ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การรับสมัคร การให้ความรู้เบื้องต้น การออกแบบกิจกรรม การแข่งขัน รวมถึงการเสริมทักษะที่จำเป็น เพื่อเฟ้นหาทีมเยาวชนที่มีศักยภาพจำนวน 5 ทีม เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ ACC ต่อไป อย่างไรก็ดี ทาง สดช. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เห็นพ้องต้องกันว่าในช่วงแรกของกิจกรรมในโครงการ ACC เป็นกิจกรรมออนไลน์ เห็นควรเพิ่มทีมเยาวชนอีก 5 ทีม รวมเป็น 10 ทีม เพื่อขยายโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของเยาวชนผู้สนใจและเป็นการใช้ประโยชน์จากการเป็นภาคีสมาชิกของ APSCO ในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้เยาวชนที่ผ่านเข้ารอบแรกจะได้รับการอบรมการออกแบบดาวเทียมตามแนวคิด (Conceptual Design) จากผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ จากนั้นทั้ง 10 ทีมจะถูกคัดเลือกเหลือ 5 ทีมตัวจริง เพื่อเข้ากิจกรรมอื่นๆ ของ ACC ต่อไป

ACC-Thailand จึงเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะจุดประกายและเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจได้ใช้ความรู้ ความสามารถในการออกแบบและสร้างดาวเทียม CubeSat ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมให้ภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจของตนด้วยเทคโนโลยีที่เยาวชนไทยสร้างขึ้น

สำหรับแนวโน้มด้านเทคโนโลยีอวกาศที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผศ. ดร. ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มีความเห็นว่า มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น อินเดียและเกาหลีใต้ ที่สามารถสร้างและปล่อยดาวเทียมได้เอง โดยมีแนวโน้มที่จะมุ่งสร้างดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 50 กิโลกรัม ที่ระดับความสูงจากพื้นโลกไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร ด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่ายในการสร้างและการนำส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ไม่สูงมากนัก ใช้บุคลากรจำนวนน้อยและใช้เวลาพัฒนาไม่นาน ทำให้สามารถสร้างดาวเทียมได้จำนวนมากขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับการกำหนดภารกิจดาวเทียมแบบกลุ่ม (Satellite Constellation) ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และจะมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการใช้งานด้านการทหารและพลเรือน อาทิ งานด้านความมั่นคงหรือบังคับใช้กฎหมาย การจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การเกษตรความแม่นยำสูง (Precision Agriculture) การตรวจติดตามและเฝ้าระวังภัยพิบัติ ทั้งไฟป่าหรือน้ำท่วม ตลอดรวมถึงเทคโนโลยีในอนาคต อย่างอินเทอร์เน็ตดาวเทียม (Satellite Internet) ที่เป็นการยกระดับการเชื่อมต่อสู่โลกอินเทอร์เน็ตอีกขั้น นั่นคือ สามารถเชื่อมต่อได้ตลอดเวลาถึงแม้โครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือข่ายจะล้มเหลว เท่ากับเป็นการสร้างความมั่นใจและลดความสูญเสียของภาครัฐและเอกชน

โครงการ ACC-Thailand จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครมุ่งมั่นให้เป็นเวทีประลองฝืมือสำหรับเยาวชนที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศชาติในอนาคต และยังเป็นต้นแบบของกิจกรรมที่สามารถพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังเช่น เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงสร้างเยาวชนให้มีศักยภาพแล้ว ยังผลักดันเยาวชนให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่อาจเปลี่ยนโลกด้วยก็เป็นได้ ดร.ภานวีย์ กล่าวสรุป

ท้ายนี้ สดช. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนในแวดวงเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ ต่างมุ่งหวังว่า ภารกิจของ ACC และ ACC-Thailand จะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนและพลิกโฉมประเทศไทยจาก 'ผู้ซื้อ' สู่ 'ผู้สร้าง' ดาวเทียม ที่ไม่เพียงเป็นแค่ดาวเทียมวิจัยทดลอง แต่อาจเป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ฝีมือคนไทย อันจะมีผลต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ของประเทศไทยในอนาคตและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

สดช. ผนึก ม.เทคโนโลยีมหานคร มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ 'ผู้สร้าง' ในเวทีการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ ภายใต้กิจกรรมขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง