กทม.บูรณาการความร่วมมือจัดระเบียบ-ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

อังคาร ๑๑ กรกฎาคม ๒๐๒๓ ๑๕:๓๕
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านบริเวณถนนราชดำเนินว่า สพส.ได้ดำเนินการด้านคนไร้บ้าน โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขตพระนคร สำนักเทศกิจ สำนักอนามัย สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร และบ้านมิตรไมตรี ในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 ลงพื้นที่จัดระเบียบคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้าน โดยคัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพตามที่กฎหมายกำหนดและทำความเข้าใจกับผู้ที่เข้ามาพักอาศัยในพื้นที่สาธารณะ เช่น การทิ้งขยะ ขับถ่ายสิ่งปฏิกูล ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนบริเวณใกล้เคียงและที่สัญจรไปมา เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนกลุ่มเป้าหมายให้ทราบถึงบริการที่พักอาศัย อาหาร 3 มื้อ ยารักษาโรค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่ง พส.จัดไว้รองรับ หรือสามารถติดต่อสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนให้ความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาของแต่ละรายโดยความสมัครใจของคนไร้บ้าน
กทม.บูรณาการความร่วมมือจัดระเบียบ-ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร กทม. สพส. สำนักงานเขตพระนคร และสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ ได้ร่วมลงพื้นที่ เพื่อหารือมาตรการเพิ่มความเข้มงวดดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราไม่ให้มีการพักอาศัยหลับนอน พร้อมทั้งกวดขันไม่ให้ประชาชนนำอาหารมาแจกในบริเวณแนวถนนราชดำเนินทั้งสองฝั่ง โดยประชาสัมพันธ์ในกลุ่มผู้มาแจกอาหารสิ่งของและแนะนำจุดแจกอาหารที่สำนักงานเขตพระนครกำหนดไว้ ได้แก่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร ระหว่างเวลา 10.00 - 16.00 น. (ทุกวัน) และบริเวณตรอกสาเก ระหว่างเวลา 17.00 - 22.00 น. (ทุกวัน) เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่และความปลอดภัยของประชาชนในบริเวณใกล้เคียงและที่สัญจรไปมา

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลแจงนับคนไร้บ้าน เมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 พบคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ 1,271 คน (ชาย 1,057 คน หญิง 190 คน) พบมากในพื้นที่เขตพระนคร 588 คน (ชาย 474 คน หญิง 109 คน) โดยมีแนวทางการช่วยเหลือและดูแลคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ที่อออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ได้แก่ การจัดตั้งพื้นที่สวัสดิการ "จุดบริการสวัสดิการสังคม (drop in)" บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร ระหว่างเวลา 10.00 - 16.00 น. (ทุกวัน) และบริเวณตรอกสาเก ระหว่างเวลา 17.00 - 22.00 น. (ทุกวัน) การคัดกรองจัดทำประวัติ การจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามการช่วยเหลือในรูปแบบ Google Forms การจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาคนคนไร้บ้าน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองดูแลและจัดบริการสวัสดิการสังคมในด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ อย่างมีประสิทธิภาพ การให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ทำบัตรประชาชน การรักษาพยาบาล การส่งเสริมฝึกอาชีพ การเข้าถึงที่พักอาศัย การจัดหางาน ห้องอาบน้ำ ที่ซัก - อบเสื้อผ้า ตัดผม บริการห้องสุขา บริการรับบริจาคอาหาร-สิ่งของ การติดตามญาติเพื่อส่งกลับคืนสู่ครอบครัว ชุมชน และการประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการบ้านอิ่มใจ ในรูปแบบ Emergency Shelters เพื่อจัดบริการสวัสดิการสังคมสำหรับคนไร้บ้าน โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายคนไร้บ้าน บริการให้คำปรึกษา แนะนำส่งเสริมสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาล ด้านข้อมูลทะเบียนประวัติบุคคล การส่งเสริมการฝึกอาชีพ บริการจัดหางาน ห้องสุขา ห้องอาบน้ำ ที่ซักและที่ตากผ้า จุดรับบริจาคและแจกอาหารและสิ่งของ รวมถึงการประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการกลับคืนสู่ครอบครัวและชุมชน โดยพิจารณาใช้พื้นที่ของอาคารบริเวณสะพานเฉลิมวันชาติ เขตพระนคร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจัดสรรงบประมาณปรับปรุงอาคาร ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมการฝึกอาชีพสำหรับคนไร้บ้านที่มีความประสงค์ฝึกอาชีพ พร้อมทั้งสนับสนุนเงินทุนฝึกอาชีพ ทุนประกอบอาชีพให้ผู้ที่มีคุณสมบัติและมีความพร้อม โดยร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น บริการจัดหางานตามโครงการ "จ้างวานข้า ของมูลนิธิกระจกเงา" เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนยากจน ป้องกันกลุ่มเสี่ยงออกมาเร่ร่อนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ แต่การให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งในด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงที่พักอาศัย การส่งเสริมการฝึกอาชีพและการมีงานทำนั้น ต้องได้รับความยินยอมสมัครใจของคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 กรณีคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งที่ไม่มีอาชีพและมีความสมัครใจต้องการมีงานทำจะประสานส่งต่อ พส.เพื่อเข้าสู่นิคมสร้างตนเอง หรือแนะนำให้ติดต่อกรมการจัดหางานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการมีงานทำ บริการจัดหางาน และการแนะแนวอาชีพ

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

กทม.บูรณาการความร่วมมือจัดระเบียบ-ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตอกย้ำปณิธาน สร้างชีวิต มอบเครื่องเล่นสนาม อุปกรณ์ครุภัณฑ์ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กนักเรียนในส่วนภูมิภาค ณ โรงเรียนวัดนาร่อง อ.เมือง
๓๐ เม.ย. เฮงลิสซิ่ง จับมือ วิริยะประกันภัย เสนอ ประกันภัยอุ่นใจ ทางเลือกใหม่สำหรับประกันภัยคุ้มครองบ้าน
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์-สมาคมกีฬาตะกร้ออาวุโส-สมาคมกีฬา จ.นครศรีฯ เอ็มโอยูเตรียมระเบิดศึกตะกร้อเยาวชนฮอนด้า ยูเนี่ยน
๓๐ เม.ย. หลักสูตรการประยุกต์ใช้ NODE-RED ในงานอุตสาหกรรม เชื่อมต่อ CLOUD PLATFORM NEXIIOT
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลระดับโลก 3G Award 2024
๓๐ เม.ย. YouTrip เปิดอินไซต์ช่วงหยุดยาวคนไทยแห่เที่ยว ญี่ปุ่น-จีน ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 150%
๓๐ เม.ย. คณะการท่องเที่ยวฯ DPU ให้ความสำคัญต่องานบริการ จัด HT Makeup Competition 2024 เพิ่มทักษะแต่งหน้าให้กับ นศ.
๓๐ เม.ย. กิจกรรมดี ๆ สำหรับเยาวชนหญิงที่หลงใหลศิลปะการทำอาหาร ในโครงการ Women for Women (WFM) Internship Program ร่วมฝึกงานในร้านอาหารโพทง
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น CIVIL โหวตอนุมัติ จ่ายปันผล 0.012 บาท/หุ้น ทิศทางธุรกิจปี 67 เติบโตต่อเนื่อง
๓๐ เม.ย. PRM จัดประชุม E-AGM ปี 67 อนุมัติจ่ายปันผล 0.26บ./หุ้น