แพทย์รามาฯ มุ่งใช้ "หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด" เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วยพร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้น

อังคาร ๒๒ สิงหาคม ๒๐๒๓ ๑๔:๐๔
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robotic surgery" ถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองและยังเป็นเทรนด์ที่อยู่ในกระแสมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ซึ่งระบบของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และมีการนำเข้ามาใช้งานจริงในโรงพยาบาลชั้นนำของไทย คือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีชื่อว่า "ดาวินชี (da Vinci Xi)" ซึ่งมีคุณสมบัติในการเข้าถึงอวัยวะขนาดเล็กภายในเพื่อทำการผ่าตัดและเย็บแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความแม่นยำมากที่สุด ทำให้ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย พร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้นลดได้ ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 เครื่องในประเทศไทย โดยหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี
แพทย์รามาฯ มุ่งใช้ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วยพร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้น

กว่า 10 ปีที่ผ่านมาหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีในหลายโรคด้วยกัน เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน โรคทางเดินน้ำดีอุดตันจากนิ่ว มะเร็งทางเดินน้ำดี โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะอ้วน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคซับซ้อน ซึ่งการผ่าตัดแบบปกตินั้นไม่สามารถทำการรักษาได้เลย แต่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น

ผศ.นพ.พงศธร ตั้งทวี (ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี) เผยว่า "แต่เดิมและจนถึงปัจจุบันการผ่าตัดผู้ป่วยในกลุ่มอวัยวะที่อยู่ลึกในช่องท้อง เช่น ตับอ่อน, ถุงน้ำดี, ต่อมลูกหมาก เป็นต้น แพทย์จะใช้วิธีการที่เรียกว่า การผ่าตัดส่องกล้องช่องท้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งแพทย์ต้องเจาะแผลหน้าท้องผู้ป่วยเพื่อสอดกล้องขนาดเล็กและเครื่องมือเข้าไปตรวจดูอวัยวะภายในขณะทำการผ่าตัด ซึ่งเวลาเฉลี่ยในการผ่าตัดในบางอวัยวะจะใช้เวลานาน ด้วยรูปแบบนี้จะใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง และในการผ่าตัดแต่ละครั้งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก รวมถึงตัวกล้องเองที่มีลักษณะตรงก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงซอกหรือมุมในอวัยวะบางส่วนของผู้ป่วย แต่เมื่อมีวิวัฒนาการของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชีเข้ามาก็ทำให้ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลงได้ ลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการผ่าตัดแต่ละครั้ง รวมถึงตัวแขนกลของเครื่องมีลักษณะเป็นปลายข้อมือที่หมุนได้เหมือนข้อมือมนุษย์ ทำให้สามารถเข้าถึงอวัยวะที่อยู่ลึกให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลขนาดเล็กซึ่งผู้ป่วยเองก็เจ็บตัวน้อยลง ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะในอวัยวะที่มีเส้นประสาทอยู่เยอะเช่นในต่อมลูกหมาก และลดระยะเวลาในการพักฟื้นลงได้ทำให้โรงพยาบาลมีพื้นที่ในการสามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้มากขึ้นและผู้ป่วยเองก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น"

ด้าน ศ. นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย (อาจารย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ) อีกหนึ่งศัลยแพทย์ที่ใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดเล่าถึงแง่มุมการทำงานว่า "ในบทบาทของการเป็นแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีขอบเขตการดูแลอวัยวะในส่วนของไต, ท่อไต, กระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมากนั้น ในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง เมื่อย้อนกลับไปกว่า 10 ปี
ที่แล้วการผ่าตัดเคสแบบนี้ต้องมีแพทย์จำเป็นต้องทำให้ผู้ป่วยมีแผลเปิดซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด เสียเลือดเยอะและใช้เวลาในการฟื้นตัวช้า วิวัฒนาการผ่าตัดต่อมาจะเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery) ซึ่งที่รามาธิบดีก็มีทีมแพทย์หลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ แต่การผ่าตัดผ่านกล้องเองก็มีความท้าทายเช่นกันเพราะแพทย์ผู้ผ่าตัดจะต้องมีความแม่นยำ รวดเร็ว เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ต้องมีความละเอียด และด้วยลักษณะการผ่าตัดแบบนี้ที่ต้องเจาะรูหน้าท้องเพื่อสอดกล้องเข้าไปในอวัยวะภายใน ทำให้แพทย์เองก็มีข้อจำกัดในด้านมุมมองเช่นกัน จากอุปสรรคตรงนี้จึงเป็นที่มาของการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชีเข้ามาเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของแพทย์ให้มีความสะดวกในการผ่าตัดมากขึ้น ซึ่งตัวเลนส์กล้องของหุ่นยนต์ที่สามารถขยายได้ก็ช่วยให้แพทย์มีวิสัยทัศน์ในการมองภาพอวัยวะภายในที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังดีต่อตัวผู้ป่วยเองทั้งในแง่ของขนาดแผล เพิ่มอัตราการรอดชีวิต เพราะลดการเสียเลือด การฟื้นตัวใช้เวลาน้อยลง และทีมศัลยแพทย์ในการผ่าตัดก็ลดลงไปกว่าครึ่งเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มโรคที่พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด แพทย์ก็มักจะแนะนำวิธีนี้ แต่ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ที่จะเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยกว่าหลักแสนบาท"

"เพราะในการใช้งานหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในแต่ละครั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหลายคนจึงไม่สามารถเข้าถึงโอกาสนี้ได้ แต่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเรามีมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่คอยให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยยากไร้ในเคสที่จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัดเพราะมีความซับซ้อนของโรค เช่น ในกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะจะมีค่าเฉลี่ยของเวลาในการผ่าตัดแต่ละครั้งอยู่ที่ 8-9 ชั่วโมง และแพทย์ในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ก็มีจำนวนจำกัดเช่นกัน แต่หากมีหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาก็จะช่วยลดเวลาในการผ่าตัดลงเหลือที่ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยเองก็มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นเช่นกัน"

ในมุมของอดีตผู้ป่วยอย่าง สิรภัฒ พงศ์สิริพิพัฒน์ หรือปุ้ย วัย 46 ปีเล่าว่า "ผมตรวจเจอเนื้องอกในตับอ่อนตั้งแต่เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ซึ่งเป็นการตรวจเจอผ่านการตรวจสุขภาพทั่วไป ซึ่งผมไม่เคยมีอาการใดๆ มาก่อนเลย ตอนที่ทราบเรื่องยอมรับว่าผมมีความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะด้วยบทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบหลายอย่างต้องดูแล รวมถึงการผ่าตัดตับอ่อนก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิต ทำให้ช่วงแรกผมยังไม่ตัดสินใจเข้าผ่าตัด แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งเนื้องอกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และทางผศ.นพ.พงศธร แพทย์ที่ดูแลผมในขณะนั้นได้แนะนำให้เข้าผ่าตัดกับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในตอนนั้นตัวผมเองมีประกันชีวิตส่วนตัวจำนวนหนึ่งบวกกับการได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาธิบดีฯ ที่เข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดในครั้งนั้นผมจึงไม่ลังเลที่จะเข้าผ่าตัด และทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ตัวผมเองใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นานก็กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัวได้ และอีกหนึ่งความโชคดีที่ในเคสของผมไม่มีภาวะโรคเบาหวานเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดเลยอีกด้วย ผมเองต้องขอบคุณทีมแพทย์และมูลนิธิรามาธิบดีฯ มากๆ ที่ช่วยให้ผมไม่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคร้ายและมีโอกาสกลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง"

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีอยู่ในตอนนี้ถือเป็นรุ่นที่มีการใช้งานมาแล้วมากกว่า 10 ปี และในขณะนี้มูลนิธิรามาธิบดีฯ มีการจัด "โครงการระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด" เพื่อระดมทุนในการซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชีรุ่นใหม่ มูลค่า 130,000,000 บาท โดยเล็งเห็นประโยชน์ว่าหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ทันสมัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยให้ได้องค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดแบบบาดเจ็บรุนแรงน้อย และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ ขณะเดียวกันต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมากขึ้น จนส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลงเป็นลำดับต่อไป และท้ายที่สุดผู้ป่วยได้รับสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เช่นเดียวกับการรักษาโรคซับซ้อนหลายประเภทที่สามารถเบิกจ่ายได้บางส่วนในปัจจุบัน อาทิ การปลูกถ่ายตับ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต รวมถึงโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคได้ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ที่มา: เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว