การใช้กัญชาทางการแพทย์ในไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน

อังคาร ๒๒ สิงหาคม ๒๐๒๓ ๑๗:๑๓
ถ้าหากพูดถึงเรื่องสรรพคุณของกัญชา หลายคนอาจมีความคุ้นเคยกันดี ในแง่ที่ถูกนำมาใช้ทางด้านการแพทย์ แต่ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งเพิ่งจะได้มีโอกาสรับรู้ข้อดีของกัญชามากขึ้นหลังจากการปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ กัญชามีข้อดีอย่างไร เพราะอะไรวงการแพทย์ถึงให้การยอมรับ?
การใช้กัญชาทางการแพทย์ในไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน

'กัญชาทางการแพทย์' จากอดีตสู่ปัจจุบันนั้น มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร สรรพคุณของกัญชาทางการแพทย์ใช้รักษาโรคหรืออาการอะไรได้บ้าง วันนี้เราจะพาคุณย้อนเวลากลับไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกัญชาทางด้านการแพทย์กัน

กัญชาทางการแพทย์ไทยในอดีต

มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้เชื่อได้ว่าคนในสมัยก่อนใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางด้านจิตวิญญาณ จากการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุราว 12,000 ปี ใกล้กับเทือกเขา Flaming Mountains ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน โดยด้านข้างโครงกระดูก พบกัญชาที่มีค่า THC สูง

กัญชาเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหากใช้อย่างไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งพืชกัญชาถูกใช้เป็นยารักษาโรคมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ โดยสันนิษฐานกันว่าคนในยุคนั้นนำกัญชามาเผาไฟที่ด้านในสุดของถ้ำ และสูดดมกลิ่นควันของกัญชา

นอกจากนี้ ยังมีการสันนิษฐานว่าประเทศไทยได้มีการนำเข้ากัญชามาจากประเทศอินเดีย โดยอ้างอิงหลักฐานจากชื่อที่มีความคล้ายกัน คือ 'ganja' ในภาษาฮินดี

ในปี พ.ศ.2465 ประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษขึ้น และมีการแก้ไขรายละเอียดในพระราชบัญญัติในฉบับสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2562 แต่กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่

ตำรับยากัญชารักษาโรค สมัยกรุงศรีอยุธยา

ย้อนกลับไปในอดีตเกี่ยวกับกัญชาในประเทศไทย พบว่า เรามีประวัติการใช้กัญชาในแบบทั้งที่เป็นตัวยาหลักและเป็นส่วนผสมในตำรับยาไทย เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยมาแล้วอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2175-2231) ซึ่งโรคที่สามารถรักษาพร้อมส่วนผสมของกัญชา มีดังนี้

  • บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง

ตำรับยาในส่วนนี้จะเน้นในเรื่องของการรักษาอาการทางกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งมีตำรับยาที่น่าสนใจ ได้แก่

  • ตำรับยาเนาวนารีวาโย: เป็นตำรับยาแผนไทยที่มีการจารึกไว้บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและมือเท้าชา มีตัวยาหลัก ๆ ได้แก่ กัญชา, กานพลู, ขิงแห้ง, ลูกจันทน์, อบเชย และตาหม่อน
  • ตำรับยาอัมฤตย์โอสถ: บรรเทากล้ามเนื้อเส้นเอ็นมือเท้าชา แก้ลมกษัย มีส่วนผสมหลัก ได้แก่ สมอเทศ, กัญชา, ลูกมะตูม, ดีปลี, โกฐเขมา และพริกไทย เป็นต้น
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้

ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ก็ได้มีสูตรยากัญชาทางการแพทย์ที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการคลื่นไส้ และลดการอาเจียนได้จากตำรับยาไทย ดังนี้

  • ตำรับอัคคินีวคณะ: เป็นยาขนานที่ 11 ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ที่นอกจากจะช่วยแก้อาการคลื่นไส้แล้ว ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย มีส่วนผสมหลัก ได้แก่ กัญชา, เปลือกอบเชย, ใบกระวาน, กานพลู และน้ำตาลกรวด เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการแพทย์แผนปัจจุบันที่ในสารประกอบ cannabinoids มาใช้ในการรักษาผลข้างเคียงอันเกิดจากการรับเคมีบำบัด
  • ลดความเครียดและกังวล

ในกัญชามีสารประกอบ CBD ที่มีสรรพคุณลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ ซึ่งในตำรับยาไทยก็ได้มีการนำมาใช้แล้วตั้งแต่อดีต ได้แก่

  • ตำรับยาแก้อาการทางจิต: ซึ่งเป็นลักษณะของความเครียดและความวิตกกังวลส่งผลต่อการนอนหลับ ซึ่งอาการทางจิตเกิดขึ้นได้หลากหลาย เช่น อ่อนเพลีย, เวียนศีรษะ, วิตกกังวล และนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายถึงอาการทางจิตเวชแต่อย่างใด
  • กระตุ้นความอยากอาหารและปรับปรุงการนอนหลับ

CBD และ THC เป็นสารประกอบในกัญชาที่สามารถกระตุ้นความอยากอาหารได้ซึ่งเป็นสรรพคุณของ THC ซึ่งในตำรับยาสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เราได้นำมาใช้ ได้แก่

  • ตำรับยาศุขไสยาศน์: คำว่า 'ศุข' เป็นคำโบราณที่แปลว่า ความสุข และคำว่า 'ไสยาศน์' แปลว่า การนอน เพราะฉะนั้นจากชื่อตำรับยาศุขไสยาศน์จึงสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าเป็นตำรับยาที่ช่วยให้กินข้าวได้ นอนหลับอย่างมีความสุขนั่นเอง มีส่วนผสมหลัก ๆ ได้แก่ การบูร, ใบกัญชา, สมุลแว้ง, เทียนดำ, ลูกจันทน์ และพริกไทย เป็นต้น

สารประกอบกัญชากับเภสัชวิทยาคลินิก

ในกัญชาจะมีสารประกอบอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ CBD (cannabidiol) ที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและ THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากใช้กัญชาที่มี THC สูงอย่างต่อเนื่อง อาจเสี่ยงต่อการเสพติดได้ ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้จะมีอยู่ในทุกส่วนของต้นกัญชา แต่จะพบมากที่สุดในช่อดอกกัญชาเพศเมียทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาเพิ่มเติมได้ที่นี่

จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพกับสัตว์ทดลองพบว่าทั้ง CBD และ THC มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งเต้านม, มะเร็งช่องปาก และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ยังมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย

กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบัน

จากอดีตการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคมักใช้ใบกัญชามาเป็นส่วนผสมในตำรับยาหรือไม่ก็ใช้วิธีการเผาไหม้แล้วสูดดมกลิ่น

แต่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมหน่วยงานสำคัญอย่างกระทรวงสาธารณสุขได้มีการขับเคลื่อนเดินหน้าเรื่องกัญชาทางการแพทย์อย่างเต็มที่ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (GPO) ขยายคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 75 แห่งทั่วประเทศ พร้อมผลิตภัณฑ์ในการรักษาโรคอย่าง 'สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ชนิดหยดใต้ลิ้น' หรือที่รู้จักกันดีใน 'น้ำมันกัญชา' นับเป็นสารสกัดกัญชาชนิดแรกของไทยที่ผลิตและผ่านกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายไทยกำหนด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ชนิดหยดใต้ลิ้น

หรือน้ำมันกัญชาขององค์การเภสัชกรรม (GPO) มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

  • สูตร THC เด่น

ใน 1 หยด ประกอบไปด้วย THC 0.5 มิลลิกรัม ใช้รักษาควบคู่ไปกับการรักษาตามมาตรฐานที่ผู้ป่วยรักษาไว้ก่อนหน้านี้ และใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้จากการรับเคมีบำบัด, ผู้ที่เบื่ออาหาร และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  • สูตร CBD เด่น

ใน 1 มิลลิลิตร จะประกอบไปด้วย CBD 100 มิลลิกรัม ใช้รักษาผู้ที่เป็นโรคลมชักที่รักษายากในผู้ป่วยเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยา และใช้ตามที่แพทย์สั่ง

  • สูตร THC:CBD 1:1

ใน 1 มิลลิลิตร ประกอบด้วย THC 27 มิลลิกรัม และ CBD 25 มิลลิกรัม ใช้กับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้จากการรับเคมีบำบัด, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และผู้ที่มีอาการปวดตามเส้นประสาท เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า 'กัญชา' มีสรรพคุณทางยามากมาย เป็นที่รู้จักกันดีและมีการใช้ประโยชน์มาแล้วนับพันนับหมื่นปี แต่อาจขาดหายไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากการใช้กัญชาอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ส่งผลให้กัญชาถูกขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่ด้วยสรรพคุณทางยาของกัญชาที่ให้ผลดีทางการแพทย์ ส่งผลให้กัญชาถูกนำกลับมาใช้เพื่อเป็นการรักษาโรคอีกครั้งในปัจจุบัน และจริงจังมากขึ้นในอนาคต เพียงแต่ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากกัญชา ควรใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเราแนะนำว่าควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนการใช้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีสุดในแต่ละบุคคล

ที่มา: Weed Review

การใช้กัญชาทางการแพทย์ในไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง