ซาอุดีอาระเบียค้นพบ "ห้องเก็บเขาสัตว์โบราณ" หลักฐานของการประกอบพิธีกรรม ณ สิ่งก่อสร้างอันน่าพิศวงในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

พุธ ๑๓ กันยายน ๒๐๒๓ ๐๘:๒๐
- รายงานวิจัยสองฉบับที่เพิ่งเผยแพร่แสดงถึงรายละเอียดและความสำคัญของการประกอบพิธีกรรมที่มุสตาติล ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างในยุคหินใหม่ โดยชิ้นส่วนเขาและกะโหลกสัตว์บ่งชี้ว่ามีการทำพิธีกรรมอันซับซ้อนเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อที่ฝังรากลึก  

- การวิจัยได้รับการสนับสนุนโดยราชกรรมาธิการอัลอูลา โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานภาคสนามที่มีความสำคัญระดับโลก  

- การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลาครั้งปฐมฤกษ์ ได้รวบรวมผู้นำหลากหลายภาคส่วนมาร่วมการประชุม ซึ่งเปิดฉากขึ้นในวันที่ 13 กันยายน  

ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีสองครั้งล่าสุดภายใต้การสนับสนุนจากราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ได้แสดงให้เห็นว่า คนยุคหินใหม่ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบียมีการ "ทำพิธีกรรมที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง" ในช่วง 6,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช 

การค้นพบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้เปิดพรมแดนใหม่ในการความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภูมิหลังทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของคนโบราณในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย  

คณะนักวิจัยเน้นย้ำว่า พิธีกรรมดังกล่าวน่าจะกระทำโดยคนหมู่มาก และมีความเป็นไปได้ที่คนโบราณเดินทางมายังสิ่งก่อสร้างหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกว่ามุสตาติล (mustatil) เพื่อประกอบพิธีกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจาริกแสวงบุญยุคแรกเริ่มที่สุดเท่าที่ทราบ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้สัตว์เลี้ยงเป็นเครื่องบูชายังแสดงให้เห็นถึงการทำปศุสัตว์ของชนเผ่าเร่ร่อน และสมาชิกของชนเผ่าอาจสร้างมุสตาติลเหล่านี้เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคม และ/หรือ แสดงอาณาเขต  

มุสตาติลคือโครงสร้างกำแพงหินเตี้ย ๆ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง จากการสำรวจทางอากาศ นักวิจัยพบมุสตาติล 1,600 แห่งทั่วภาคเหนือของซาอุดีอาระเบีย แม้ว่าในตอนแรกจะยังไม่ทราบวัตถุประสงค์การใช้งานของสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ แต่การขุดค้นพบนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาบ่งชี้ถึงความสำคัญทางพิธีกรรม และช่วยให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทำพิธีกรรมดังกล่าว  

ผลวิจัยทั้งสองผ่านการทำพิชญพิจารณ์ (Peer Review) และเพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ การวิจัยครั้งแรกนำโดย ดร.วาเอล อาบู-อาซิเซห์ (Wael Abu-Azizeh) จากอาร์คีโอเรียนต์ ลาบอราทอรี (Archeorient Laboratory) และมหาวิทยาลัยลียง 2 ในฝรั่งเศส และเผยแพร่ในหนังสือ "เผยภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย" (Revealing Cultural Landscapes in North-West Arabia) ซึ่งมีบรรณาธิการเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญที่นำโดย ดร.รีเบกกา ฟูเท (Rebecca Foote) ผู้อำนวยการฝ่ายโบราณคดีของราชกรรมาธิกาอัลอูลา ส่วนการวิจัยอีกครั้งนำโดย ดร.เมลิสซา เคนเนดี (Melissa Kennedy) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย และเผยแพร่ในวารสารพลอสวัน (PLoS One) ฉบับเดือนมีนาคม  

การวิจัยโดย ดร.วาเอล อาบู-อาซิเซห์  

ในปี 2561 ดร.อาบู-อาซิเซห์ เริ่มปฏิบัติงานในนามของออกซ์ฟอร์ด อาร์คีโอโลจี (Oxford Archaeology ) โดยขุดค้นพบ "ห้องเก็บเขาสัตว์" (Horn Chamber) ในมุสตาติลแห่งหนึ่ง ณ จุด IDIHA-0000687 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอัลอูลา ซึ่งมีอายุเก่าแก่ราว 5,300-5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ห้องดังกล่าวมีขนาด 3.25 x 0.8 เมตร และอยู่สุดฝั่งตะวันตกของมุสตาติลที่มีขนาด 40 x 12 เมตร ซึ่งเล็กกว่ามุสตาติลส่วนใหญ่  

ภายใน "ห้องเก็บเขาสัตว์" ดร.อาบู-อาซิเซห์ และทีมงานได้ค้นพบชิ้นส่วนเขาและกะโหลกสัตว์อัดแน่นอยู่ที่ความลึก 20-30 เซนติเมตร ครอบคลุมทั่วห้อง โดยระบุว่าเป็น "การเก็บรวบรวมที่ไม่เหมือนใครและไม่เคยมีมาก่อนในบริบทของยุคหินใหม่ทางตอนเหนือของซาอุดีอาระเบีย"  

ราว 95% ของชิ้นส่วนเขาและกะโหลกมาจากสัตว์เลี้ยง ประกอบด้วยแพะ แกะ วัว และส่วนที่เหลือมาจากสัตว์ป่า เช่น ละมั่ง แพะภูเขานูเบีย และวัวป่าออรอช (บรรพบุรุษของวัวเลี้ยง ซึ่งตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว) นอกจากนี้ ภายใต้ชิ้นส่วนดังกล่าวยังมีกิ่งไม้วางไว้เป็นชั้นบาง ๆ บนพื้นผิวหินทรายของห้อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำพิธีกรรม  

คณะนักวิจัยสรุปว่าชิ้นส่วนเขาและกะโหลกน่าจะนำมารวมกันไว้เพื่อทำพิธีกรรมครั้งเดียว โดยในการจำลองเหตุการณ์ คณะนักวิจัยเชื่อว่าชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ได้รวบรวมและนำมาบูชาระหว่างประกอบพิธีกรรม ในการเข้ามาประกอบพิธีในห้องเก็บเขาสัตว์ขนาดเล็ก คนโบราณต้องเข้ามาทีละคนผ่านช่องประตูแคบ ๆ และห้องเชื่อมขนาดเล็ก พร้อมด้วยไฟเพื่อทำพิธีบูชาในนามของกลุ่มของตนเอง เครื่องบูชาที่รวบรวมไว้ที่นี่แสดงถึงความเชื่อมแน่นของกลุ่มทางสังคมขนาดใหญ่  

คณะนักวิจัยระบุว่า "เมื่อพิจารณาจากปริมาณของซากกระดูก ความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ และการเก็บรักษาอย่างดีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการค้นพบที่พิเศษและไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีของภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังเป็นเครื่องแสดงถึงการประกอบพิธีกรรมที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง"  

การวิจัยโดย ดร.เมลิสซา เคนเนดี  

ในปี 2562 การวิจัยครั้งที่สองภายใต้การนำของดร.เคนเนดี จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียในขณะนั้น ได้มีการขุดค้นมุสตาติลที่อยู่ลึกภายในหุบเหวหินทรายทางตะวันออกของเมืองอัลอูลา ณ จุด IDIHA-0008222 และค้นพบห้องเก็บชิ้นส่วนเขาและกะโหลกสัตว์เช่นเดียวกัน โดยมีอายุเก่าแก่ราว 5,200-5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่มีปริมาณไม่มากเท่า และยังมีความแตกต่างอีกประการ นั่นคือ กระดูกเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะนำมารวบรวมไว้สามหรือสี่ครั้งในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคน ไม่ได้ทำในครั้งเดียว  

ชิ้นส่วนเขาและกะโหลกส่วนใหญ่มาจากวัวและแพะ คณะนักวิจัยระบุว่าการค้นพบนี้เป็น "หนึ่งในเครื่องยืนยันแรกสุดว่ามีการเลี้ยงวัวและแพะในภาคเหนือของซาอุดีอาระเบีย"  

ใจกลางสถานที่บูชานี้มีหินตั้งอยู่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดศูนย์กลางของการทำพิธีกรรม โดยชิ้นส่วนเขาและกะโหลกส่วนใหญ่รวมกันอยู่รอบหินที่สูง 0.8 เมตร คณะนักวิจัยตีความว่าหินนี้คือเบทิล (betyl) ซึ่งเป็น "สื่อกลางระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือสิ่งแสดงถึงเทพ/เทพี หรือความเชื่อทางศาสนาในยุคหินใหม่ โดยมีการรวบรวมชิ้นส่วนของสัตว์มาเป็นเครื่องบูชา" นับได้ว่าเป็นเบทิลชิ้นแรก ๆ เท่าที่ทราบในคาบสมุทรอาหรับ  

คณะนักวิจัยยังระบุด้วยว่า การใช้สถานที่บูชานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงระยะเวลาหลายปี "ถือเป็นตัวอย่างแรก ๆ ของ "การจาริกแสวงบุญ" หรือการกลับมาเยือนสถานที่บูชา ซึ่งพบได้ในคาบสมุทรอาหรับจวบจนถึงปัจจุบัน"  

ที่น่าทึ่งคือ คณะนักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า การสร้างมุสตาติลอาจมีเหตุผลทางนิเวศวิทยา โดยสภาพภูมิอากาศในซาอุดีอาระเบียที่แห้งแล้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงตอนกลางสมัยโฮโลซีน (Middle Holocene Period) ประกอบกับภูมิอากาศขนาดย่อม (Micro Climate) ที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเคลื่อนย้ายและการต้อนสัตว์เป็นสิ่งจำเป็น พิธีกรรมดังกล่าวอาจประกอบขึ้นเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์และขอฝน โดยเป็นไปได้ว่ามุสตาติลตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อย่างบริเวณที่เรียกว่าวาดี (wadi) ซึ่งคณะนักวิจัยระบุว่าเป็นหัวข้อสำคัญที่น่าศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต  

ดร.รีเบกกา ฟูเท ผู้อำนวยการฝ่ายโบราณคดีและการวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมของราชกรรมาธิการอัลอูลา กล่าวว่า "ราชกรรมาธิการอัลอูลาได้ดำเนินโครงการวิจัยทางโบราณคดีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก โดยทั่วทั้งอัลอูลาและเคย์บาร์ (Khaybar) มีการสำรวจ ขุดเจาะ และโครงการเฉพาะทางที่ดำเนินการอยู่รวม 12 โครงการ ซึ่งกำลังเพิ่มพูนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม การใช้ที่ดิน และการประกอบอาชีพในภูมิภาคแห่งนี้ในอดีต ขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยก็ได้รับการเปิดเผยออกมา ทั้งพื้นที่ประกอบพิธีศพ มุสตาติล เมืองโบราณ ข้อความจารึกใน 10 ภาษา ศิลปะหิน และการทำเกษตรที่ซับซ้อน ทั้งนี้ อัลอูลาเป็นศูนย์กลางระดับแนวหน้าของกิจกรรมทางโบราณคดี และจะได้รับการส่งเสริมด้วยการประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลาที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก"  

การประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา  

สถานะของอัลอูลาในฐานะศูนย์กลางของกิจกรรมทางโบราณคดีจะได้รับการยกระดับไปอีกขั้น เนื่องจากราชกรรมาธิการอัลอูลาได้จัดการประชุมสุดยอดโบราณคดีโลกเมืองอัลอูลา (AlUla World Archaeology Summit) ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2566  

การประชุมสุดยอดครั้งนี้เป็นเวทีส่งเสริมการพัฒนาโบราณคดีและการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้วยการเชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่น ๆ โดยรวบรวมผู้นำจากภาควิชาการ ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และนักโบราณคดีรุ่นใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับชุมชนโบราณคดีและช่วยปกป้องประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มองเห็นว่าโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรมในภาพรวม สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างไรและเช่นไร  

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้ที่ https://www.worldarchaeologysummit.com  

เกี่ยวกับราชกรรมาธิการอัลอูลา  

ราชกรรมาธิการอัลอูลา (Royal Commission for AlUla หรือ RCU) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาในเดือนกรกฎาคมปี 2560 เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองอัลอูลาในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ แผนการระยะยาวของราชกรรมาธิการอัลอูลาคือการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองด้วยความระมัดระวัง รับผิดชอบ และยั่งยืน พร้อมกับอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้เมืองอัลอูลาเป็นจุดหมายปลายทางการอยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยว เป้าหมายเหล่านี้ก่อให้เกิดโครงการมากมายทั้งในด้านโบราณคดี การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และศิลปะ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังให้กับชุมชน และการอนุรักษ์มรดกตกทอดตามวิสัยทัศน์ปี 2573 หรือ Vision 2030 ของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2206896/Royal_Commission_AlUla_1.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2206897/Royal_Commission_AlUla_2.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2206898/Royal_Commission_AlUla_3.jpg
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2206899/Royal_Commission_AlUla_4.jpg     



ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๒๕ 'BLC' ลงนามสัญญาก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ขยายกำลังผลิตรองรับการเติบโต
๑๑:๓๕ ไทย ลอตเต้ เดินเกมกลยุทธ์ ส่งต่อสุข-สนุก แบบ เวรี่มาร์ช สบโอกาสตลาดช็อกโกแลตโตต่อเนื่อง ย้ำภาพ โคอะลา มาร์ช ครองใจคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น นาน 40
๑๑:๐๑ ธนาคารกรุงเทพ จับมือ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู เดินหน้าภารกิจ ผู้ให้ ร่วมหนุนปริมาณโลหิตสำรองสมทบกิจกรรม 80 แสนซีซี x 2 ในโครงการ 80 ปี 80 แสนซีซี
๑๑:๐๒ ทีเอ็มบีธนชาต มุ่งยกระดับชีวิตลูกค้าบัญชีเงินเดือน พัฒนาโซลูชันทางการเงิน ตอบโจทย์พันธมิตรองค์กรชั้นนำ ส่งเสริมพนักงานมีความรอบรู้
๑๑:๐๐ SOLAR ฉลุย! ผู้ถือหุ้นพร้อมใจโหวตผ่านทุกวาระ
๑๑:๐๑ WHAUP และ AIPT ร่วมเซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (PPA) ในโครงการ Aisin Powertrain เฟส 2
๑๐:๓๕ ยูนิลีเวอร์ เปิดตัว โอโม พลัส ไวท์ สูตรขาวใหม่ที่ดีที่สุดจากโอโม ผสานเทคโนโลยีอัลตร้า ไวท์ x5 ให้ผ้าขาวสะอาดเหมือนใหม่ยิ่งกว่าที่เคยถึง
๑๐:๔๕ DataX ตอกย้ำความเชี่ยวชาญด้าน AI นำทีมนักวิทยาศาสตร์ด้าน AI โชว์ศักยภาพด้านการพัฒน งานวิจัย AI และ LLMs จนได้รับการเผยแพร่ใน 3 เวทีชั้นนำด้าน AI LLMs
๑๐:๕๔ เตรียมพบการแข่งขันอีสปอร์ตครั้งยิ่งใหญ่! กับทัวร์นาเมนท์ 'PARAVOX GOLD RUSH' (PGRT) ชิงรางวัลมูลค่าสูงถึง 100
๑๐:๓๓ วช. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย จัดรำลึกแผ่นดินไหว1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว แม่ลาว ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย