TEI สานพลังสังคม จัดการฐานทรัพยากรสู่ความยั่งยืน

ศุกร์ ๑๕ กันยายน ๒๐๒๓ ๑๐:๐๘
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ทั้งด้านสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์น้ำ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมืออย่างรวดเร็ว
TEI สานพลังสังคม จัดการฐานทรัพยากรสู่ความยั่งยืน

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะหน่วยงานคลังสมอง (Think Tanks) ด้านสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคมากว่า 3 ทศวรรษ ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงาน "30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน" เปิดเวทีเสวนา "เอลนีโญ ร้อน แห้ง แล้งหนัก" ภายใต้หัวข้อ สานพลังสังคม จัดการฐานทรัพยากร สู่ความยั่งยืน เพื่อสะท้อนข้อมูลวิชาการ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากวิทยากรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติจากกรณีตัวอย่างขององค์กรภาคีความร่วมมือของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมเสริมสร้างความตระหนัก การรับรู้ ตั้งรับ และปรับตัวให้เท่าทันวิกฤตความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดภัยแล้งในอนาคต

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวในช่วงเริ่มต้นการเสวนาว่า เอลนีโญมีโอกาสเกิดขึ้นสูง 100% และจะยกระดับสูงขึ้น สวนทางกับปริมาณน้ำ ปริมาณฝนจะน้อยลงกว่าปกติและลดลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมแผลงฤทธิ์ในระดับที่รุนแรง จะส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้งไปจนถึงปี 2567 และอาจจะลากยาวไปอีก

"ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว และเตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาท หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนในทุกสาขาอาชีพ สู่การวางแผนป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุดทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ดำเนินการขุดลอกคูคลองและสระสาธารณะที่ตื้นเขิน วางแผนขุดบ่อและสระเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรต้องเลือกปลูกพืชที่สามารถทนร้อน ทนแล้งได้ดี มีการเตรียมน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก ต้องระวังโรคในพืชและปศุสัตว์ ผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติ เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ และต้องไม่ลืมที่จะดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด" รศ.ดร.วิษณุ กล่าว

ทางด้าน นายเทพ เพียมะลัง ประธานมูลนิธิรักษ์ป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมจุดประกายไอเดีย สร้างพลังในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยแล้งผ่านกรณีตัวอย่างการจัดการระบบนิเวศเกษตร ร่วมคืนผืนป่าให้ภูเขาหัวโล้นเป็นเขากระจุก ภายใต้แนวคิดโคกหนองนาโมเดล

"มูลนิธิรักษ์ป่าสัก มุ่งมั่นสืบสานงานเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อฟื้นฟูป่าเขาหัวโล้น แก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยใช้หลักการจัดการน้ำบนที่สูง เปลี่ยนสภาพภูเขาหัวโล้นให้เป็นเขากระจุก ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดโคกหนองนาโมเดลตามหลักภูมินิเวศและสังคมของพื้นที่ภูเขาสูง และการจัดการ 'ดิน น้ำ ป่า' สร้างพื้นที่รับน้ำให้กระจายตัว เพื่อกักเก็บน้ำฝน น้ำหลาก แบบหลุมขนมครกให้ทั่วลุ่มน้ำป่าสัก สร้างฝายชะลอน้ำ ขุดคลองไส้ไก่ รองรับการอุปโภคบริโภค ตลอดจนใช้เพื่อการเกษตรในหน้าแล้ง ควบคู่ไปกับการปลูกหญ้าแฝกและปลูกป่า เพิ่มระบบนิเวศในพื้นที่ให้หลากหลาย และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครับ" นายเทพ กล่าว

ในส่วนของ นายวิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการท่องเที่ยว ในบริบทของเกาะลันตา ด้วยการบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

"เพราะการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต้องควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ภาคีความร่วมมือเกาะลันตาจึงได้ริเริ่มปฏิบัติและขับเคลื่อนเชื่อมโยงการทำงานทุกระบบเข้าด้วยกัน ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การบริโภค และการบริการ ภายใต้แนวคิด BCG Model ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพแหล่งท่องเที่ยว มีการรวบรวมข้อมูล วางแผน และส่งต่อการจัดการร่วมกับภาคเอกชน จับคู่โรงแรม ที่พัก กับเกษตรกรจัดการและใช้ประโยชน์จากเศษอาหาร เปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นศูนย์ พร้อมส่งต่อไปใช้ประโยชน์ในภาคปศุสัตว์ ใช้ประโยชน์จากปุ๋ยที่ผลิตเอง รวบรวมพลาสติกและวัสดุรีไซเคิลให้กับโรงเรียน และชมรมลันตารีไซเคิล ร่วมกันเก็บขยะในอ่าวและชายหาดให้สะอาด สวยงาม ตลอดจนยกระดับมาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Hotel เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน"

ทางด้าน นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในภาคีความร่วมมือ ได้ร่วมถอดรหัสความสำเร็จ แลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้การจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติในกรณีตัวอย่าง การจัดการลุ่มน้ำ ในพื้นที่เมืองทุ่งสง ด้วยการขับเคลื่อนจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และระบบนิเวศเมือง สู่โมเดลการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ

"ทุ่งสงมีบทเรียนอุทกกภัยและภัยพิบัติจากน้ำท่วมนับครั้งไม่ถ้วน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนมหาศาล สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเราชาวทุ่งสงมุ่งทำงานเชิงรุกเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และระบบนิเวศของเมือง โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม สร้างเครือข่ายอนุรักษ์คลอง 4 สาย ร่วมกันบริหารจัดการน้ำจากอำเภอ จังหวัด สู่ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำตรังกว่า 30 หน่วยงาน โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเชิงรับสู่เชิงรุกทั้งระบบในทุกมิติ ปรับโครงสร้างเมือง ทำอุโมงค์ร่วมคลองและถนน ถอดโฉนดคืนคลองเพื่อทำทางเบี่ยงน้ำ ใช้เครื่องมือแผนภูมินิเวศช่วยบริหารจัดการ ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเฝ้าระวังและเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบจนเกิดผลสำเร็จในการป้องกันภัยให้เมืองทุ่งสงครับ" นายทรงชัย กล่าว

ปิดท้ายที่ นายสนั่น คงแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านไสขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช อีกหนึ่งภาคีคนสำคัญกับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ใน การจัดการพรุ พร้อมรับวิกฤตไฟป่าใหญ่

"พรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ ช่วยเก็บกักน้ำจืดในช่วงหน้าแล้ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืช สัตว์ ท้องถิ่นหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะกระจูด ที่เป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ในขณะเดียวกันการสะสมของซากผุพังต้นไม้ในป่าพรุก็เป็นแหล่งเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้เกิดไฟป่า ลุกลามได้ง่ายและยากต่อการดับไฟ ดังนั้น ชุมชน อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ต้องตื่นตัวและร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการป้องกัน และขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ จัดให้มีการฝึกอบรม เสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพครูไฟป่า สนับสนุนอุปกรณ์การดับไฟป่า ส่งเสริมเยาวชนและชุมชนให้มีความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการการบริหารจัดการป้องกันไฟป่าที่ดี สู่การจัดการพื้นที่พรุอย่างยั่งยืนครับ" นายสนั่น กล่าว

การผสานพลังสังคมทุกภาคส่วนเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับ และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ การพัฒนา และจัดการฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: มิกซ์ แอนด์ แมทซ์ คอมมิวนิเคชั่นส์

TEI สานพลังสังคม จัดการฐานทรัพยากรสู่ความยั่งยืน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง