ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7%

พุธ ๒๗ กันยายน ๒๐๒๓ ๐๙:๓๕
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% แม้ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าที่จะหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1%

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส 21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปและจะดำเนินการเพิ่มเติม จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 สำหรับค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะสั้น ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าจากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ และประเทศไทยยังน่าจะรักษาอันดับความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป

ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้าที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญไปพร้อม ๆ กับมาตรการ Quick Win ที่กำลังดำเนินการอยู่

ที่มา: ธนาคารกสิกรไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๔๙ ไอแบงก์ ลงนาม MOU สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ สำนักงานศาลยุติธรรม กว่า 16,000 คน ทั่วประเทศ
๑๐:๕๔ รวม 4 วิธีที่ช่วยปรับให้รถที่ขับอยู่นุ่มนวลขึ้นเหมือนได้คันใหม่
๑๐:๔๘ ซีพีแรม เปิดตัว FTEC (Food Technology Exchange Center) ศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร
๑๐:๑๔ iQIYI (อ้ายฉีอี้) เดินหน้ารุกตลาดยกระดับวงการ จัดงาน iQIYI 2025 World Conference เปิดตัวพรีเมียมไลน์อัพกว่า 400
๑๐:๑๓ บล.เกียรตินาคินภัทร แนะ 5 หุ้นนอกคุณภาพ นำโดย Netflix และ Mastercard คว้าโอกาสท่ามกลางตลาดผันผวน
๑๐:๓๖ อบอุ่นมาก! จิม ทอมป์สัน x ซี-นุนิว เสิร์ฟความฟินขั้นสุดกับ Exclusive Lucky Fan Dinner ค่ำคืนสุดพิเศษที่เหล่า ซนซน
๑๐:๕๓ เวียตเจ็ทเสริมฝูงบิน เดินหน้ารุกตลาดญี่ปุ่น ขยายเส้นทางระหว่างประเทศ หนุนแผนเติบโตปี 2568
๑๐:๕๖ เบทาโกร ได้รับการยกระดับ CAC ในระดับสูงสุด ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ และโปร่งใส
๐๙:๓๖ เฮ้าส์ สามย่าน จัดสองเทศกาลภาพยนตร์คุณภาพ กับ MOVIEMOV Italian Film Festival 2025 และ European Union Film Festival
๐๙:๑๑ จากไอดอลสู่หมอผี! ซอฮยอนฟาดหนัก เสิร์ฟความเดือด Holy Night: Demon Hunters คนต่อยผี 8 พ.ค.นี้