ท้องหรือไม่? ชุดตรวจฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนตอบได้ ผลงานนักวิจัยจุฬาฯ ช่วยเกษตรกรรู้ผลการตั้งท้องสุกรสาว เพื่อวางแผนบริหารจัดการฟาร์ม

พุธ ๒๗ กันยายน ๒๐๒๓ ๑๕:๑๗
สุกรท้องหรือไม่ท้อง ตอบได้ง่ายๆ ด้วยชุดตรวจฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกร นวัตกรรมของนักวิจัยจุฬาฯ เพื่อตรวจการตั้งท้องของสุกรสาว ใช้ง่าย เกษตรกรตรวจเองได้ แสดงผลเร็วและแม่นยำ ช่วยเกษตรกรวางแผนการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ ฟาร์มสุกรในกว่า 10 ประเทศนำไปทดลองใช้แล้ว
ท้องหรือไม่? ชุดตรวจฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนตอบได้ ผลงานนักวิจัยจุฬาฯ ช่วยเกษตรกรรู้ผลการตั้งท้องสุกรสาว เพื่อวางแผนบริหารจัดการฟาร์ม

สุกรท้องแล้วหรือยัง? สุกรสาวพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์หรือไม่? เป็นคำถามสำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องการคำตอบ เพื่อที่จะได้วางแผนการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ที่ผ่านมา การตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ เกษตรกรต้องมีชั่วโมงบินมากพอสมควรในการสังเกตการตั้งท้องของสุกร ซึ่งสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่อาจยังมีไม่มากพอ นอกจากนี้ การจะใช้ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ในการสำรวจสุกรรายตัวเพื่อพิสูจน์การตั้งท้อง สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ใช้เวลามาก

"การสังเกตการตั้งท้องของสุกรเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และปัญหาหลักคือสุกรเพศเมียบางตัวไม่แสดงอาการ ทำให้มีโอกาสวินิจฉัยการตั้งท้องผิดพลาด จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย จากผลงานของทีมวิจัย รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส ร่วมกับ ทีมวิจัยของ ศ.ดร.นสพ.เผด็จ ธรรมรักษ์ แสดงให้เห็นผลเบื้องต้นของการใช้แถบทดสอบที่เตรียมขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการในการช่วยแก้ไขปัญหาได้" ศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ เร่งพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงใช้แนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนานวัตกรรมแถบทดสอบที่ใช้ตรวจหาโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกรสาว (Progesterone Test Kit)

"สุกรเป็นเนื้อสัตว์ที่เป็นที่นิยมบริโภค เป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกร การบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเศรษฐกิจและการผลิตอาหารสำหรับประชาชน การตรวจสอบความพร้อมในการตั้งท้องของสุกร หรือการตั้งท้องของสุกรจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจเลี้ยงสุกรและมีผลต่อการวางแผนการจัดการซื้อขายสุกรในอนาคต" ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวถึงความสำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมทดสอบการตั้งท้องในสุกร

วิธีการเดิม ตรวจสอบสุกรตั้งท้อง

เดิมที เกษตรกรผู้มีประสบการณ์จะใช้การสังเกตลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม และอาการของสุกรเพื่อดูว่าสุกรพร้อมหรือตั้งท้องแล้วหรือไม่

"เกษตรกรจะดูว่าสุกรมีอาการของการเป็นสัดหรือไม่ โดยดูการตอบสนองของสุกรเพศเมียต่อสุกรเพศผู้เพื่อช่วยวินิจฉัยการตั้งท้องระยะต้นของแม่สุกร โดยอาศัยความชำนาญของแต่ละบุคคล" ศ.ดร.ศิริรัตน์ อธิบายยกตัวอย่าง

ในปัจจุบัน นอกจากวิธีการตรวจสอบด้วยประสบการณ์แล้ว ยังมีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำกว่า เรียกว่า ELISA Test (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay)

"วิธีนี้เป็นการตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในเลือดของสุกรสาว ซึ่งโปรเจสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ถ้ามีระดับฮอร์โมนตัวนี้มาก แสดงว่ามีโอกาสตั้งท้องสูง" ศ.ดร.ศิริรัตน์ อธิบาย

อย่างไรก็ดี การตรวจการตั้งท้องด้วย ELISA Test มีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องมีการวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการและมีผู้เชี่ยวชาญช่วยอ่านผลจากเครื่องมือ นอกจากนี้ ราคาการตรวจยังค่อนข้างสูงอีกด้วย คือ ตัวอย่างละประมาณ 500 บาท ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การใช้ ELISA Test ไม่เป็นที่นิยมใช้กับฟาร์มสุกรในเมืองไทย

ตอบโจทย์เกษตรกร ด้วยชุดตรวจฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน จุฬาฯ

ชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร (Progesterone Test Kit) เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ข้อจำกัดต่างๆ ให้เกษตรกร

"ชุดตรวจนี้เกษตรกรสามารถใช้ทดสอบการตั้งท้องของสุกรได้ด้วยตัวเอง พกพาและใช้งานสะดวก แสดงผลไว ไม่ต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่ซับซ้อน และราคาไม่แพง" ศ.ดร.ศิริรัตน์ สรุปจุดเด่นของชุดทดสอบการตั้งท้องในสุกร

"ชุดทดสอบนี้จะตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร โดยการเอาตัวอย่างเลือดจากสุกร อาจจะเจาะบริเวณใบหูของสุกรเพื่อเก็บเลือดประมาณ 3 หยด หรือจะใช้ซีรั่มที่เป็นน้ำใสๆ ด้านบนเวลาตั้งเลือดทิ้งไว้ แล้วเอาสารคัดหลั่งดังกล่าวมาหยดลงบนแถบทดสอบ (Strip Test) ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ทราบผลทดสอบ คล้ายกับการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK"

การอ่านผลไม่ยาก ถ้าผลเป็นบวก ชุดทดสอบจะขึ้น 1 ขีด หมายถึงระดับโปรเจสเทอโรนมีมากกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร แปลว่ามีฮอร์โมนสูงพอที่จะตั้งท้องได้ โดยควรจะทำการตรวจระหว่าง 18-24 วันภายหลังการผสมพันธุ์

แต่ถ้าผลทดสอบเป็นลบ จะขึ้น 2 ขีด หมายถึงระดับโปรเจสเทอโรนมีน้อยกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สุกรไม่ตั้งท้อง

"การตรวจสอบนี้จะช่วยจำแนกสุกรเพศเมีย ที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ และทำให้ผู้ประกอบการรู้ได้ว่าสุกรสาวตัวนั้นพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์หรือไม่ ช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการต้นทุน และการดูแลฟาร์มได้เหมาะสม"

ศ.ดร.ศิริรัตน์ เผยว่าจากการนำชุดทดสอบหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร ไปใช้ตรวจจริงกับแม่สุกรที่ผ่านการผสมพันธุ์ ทั้งในฟาร์มสุกรในเมืองไทย และฟาร์มของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในประเทศสเปน พบว่าชุดตรวจมีความแม่นยำมากกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับวิธีการทดสอบแบบ ELISA

ปัจจุบัน หลายบริษัทชั้นนำในธุรกิจฟาร์มสุกรยังได้นำชุดทดสอบนี้ไปใช้ในต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สเปน ยูเครน ฟิลิปปินส์ อินโดนิเชีย เวียดนาม เกาหลี และจีน

"ในอนาคต ทีมวิจัยอยากจะขยายการตรวจทดสอบลักษณะนี้ไปที่สัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก เช่น แกะ และ แพะ หรือแม้แต่สุนัขและแมว" ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาฯ (QDD center)

ชุดทดสอบตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนในสุกร เป็นงานวิจัยชิ้นแรกของศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล (Qualified Development Diagnostic Center, QDD center) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยของทีมนักวิจัยในจุฬาฯ จนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการผลิตชุดตรวจภายใต้ระบบมาตรฐานสากลทุกขั้นตอน เพื่อให้ชุดทดสอบผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล

สำหรับการพัฒนาชุดทดสอบชิ้นแรกนี้ ศ.ดร.ศิริรัตน์ และทีมวิจัย นำโดย ดร.วันวิสา พูนลาภเดชา หัวหน้าห้องปฏิบัติการชีวภาพ ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาฯ และนายณัฐิวุฒิ ขุนอาวุธ หัวหน้าห้องปฏิบัติการส่วนควบคุมคุณภาพ ศูนย์พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานสากล จุฬาฯ ได้นำงานวิจัยของทีมวิจัยของ รศ.ดร.กิตตินันท์ โกมลภิส จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ (IBGE-CU) มาเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการ และพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยของ ศ.ดร.นสพ.เผด็จ ธรรมรักษ์ จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวถึงบทบาทของ QDD center จุฬาฯ ว่าเป็นหน่วยงาน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ภายใต้ระบบมาตรฐานสากล ISO13485 โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถรองรับการวินิจฉัยที่ทันสมัยได้

"หน้าที่หลักของศูนย์แห่งนี้คือการพัฒนาชุดตรวจแบบแถบทดสอบ ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว เพื่อให้ผลรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัย ให้ได้กระบวนการผลิตที่ใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์" ศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

"ทั้งนี้ หน่วยงานในจุฬาฯ หรือหน่วยงานต่างๆ ภายนอก สามารถเข้ามารับบริการศูนย์ของเราได้ งานวิจัยที่ต้องการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ สามารถนำมาผลิตที่นี่เพื่อให้มีความคงที่ ผ่านมาตรฐาน มีการทวนสอบวิธี และตรวจสอบความถูกต้องของวิธี การสอบเทียบและตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ตามมาตรฐานสากล"

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud