ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับงานวิจัยทางคลินิกเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กและเยาวชน

พฤหัส ๒๓ พฤศจิกายน ๒๐๒๓ ๑๗:๔๔
ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานวิจัยที่อาจารย์ทุ่มเทศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านคลินิกเกี่ยวกับการดูแล รักษา และป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในเด็กและเยาวชน
ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับงานวิจัยทางคลินิกเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กและเยาวชน

ศ.พญ.ธันยวีร์ เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สิ่งสำคัญกว่ารางวัลที่ได้รับก็คือการทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับโรคเอดส์ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV - Human Immunodeficiency Virus) ได้รับการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ทันสมัยและ ตระหนักรู้ว่า การติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันมีแนวทางในป้องกัน และรักษาที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยหวังว่าจะช่วยทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจและรับทราบว่า ปัจจุบันผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องด้วยยาต้านไวรัส จะไม่เจ็บป่วยเป็นโรคเอดส์ ไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสให้กับคนอื่น ๆ รวมถึงมีสุขภาพดี ไปโรงเรียน ทำงาน มีครอบครัวมีบุตร อายุยืนยาวได้ เมื่อเข้าใจและยอมรับในประเด็นนี้แล้ว หวังว่าการตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในสังคม จะลดลงได้

"องค์ความรู้ในปัจจุบัน อย่างเช่น เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เมื่อได้ทานยาต้านไวรัส สามารถควบคุมไวรัสในร่างกายได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังเริ่มยา หลังจากนั้นยังต้องกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องทุกวันเพื่อควบคุมไวรัสไว้ ไม่ให้มาทำลายเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เด็กที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีตั้งแต่วัยทารก สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวได้ โดยไม่ส่งต่อเชื้อให้คู่สามีภรรยาหรือบุตร" ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าว

ศ.พญ.ธันยวีร์ เล่าย้อนไปถึงช่วงปี พ.ศ. 2539-2545 ที่อาจารย์เริ่มเรียนด้านกุมารแพทย์และเริ่มสนใจทำงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาเด็กและเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ณ ช่วงเวลานั้น การติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นโรคที่รุนแรง เนื่องจากยังไม่มียารักษา ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น จากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดตามหลังภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เวลานั้นประเทศไทยมีเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กทารกที่ได้รับเชื้อจากแม่สู่ลูกรายใหม่ ปีละหลายพันคน จึงได้มาทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก กล่าวคือ การนำความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านไวรัสวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา เภสัชวิทยา และระบาดวิทยามาต่อยอดทำงานวิจัย นำยาต้านไวรัสสูตรต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษาเด็กอยู่ร่วมกับเอชไอวีในประเทศไทย โดยมีแรงบันดาลใจจากการร่วมงานวิจัยกับเครือข่ายนักวิจัยใน สหรัฐอเมริกา และ กลุ่มประเทศแถบยุโรป ที่มีการวิจัยพัฒนาที่ก้าวหน้า รวมทั้งได้ทำวิจัยร่วมกับองค์การเภสัชกรรม โดยการใช้ยาต้านไวรัสที่ผลิตได้เองในประเทศไทย ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าถึงยาได้ทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาสูตรยาต้านไวรัส จากที่ต้องรับประทานวันละหลายครั้ง หลายเม็ด จนในปัจจุบันเป็นยาต้านไวรัสเม็ดรวม รับประทานวันละครั้ง ทำให้สามารถใช้ได้ง่าย ประสิทธิภาพดี สามารถใช้ได้กับเด็กในไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

"เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี หลายคน ที่หมอดูแลมาตั้งแต่เล็ก ตอนนี้อายุ 30 กว่าแล้ว บางคนทำงาน บางคนมีครอบครัวมีลูก เป็นความภาคภูมิใจที่เรามีส่วนช่วยวิจัยพัฒนายาต้านไวรัสและแนวทางการรักษาใหม่ๆ ทำให้โรคที่เราเคยคิดว่ารักษาไม่ได้ เคยเป็นที่รังเกียจ ปัจจุบันสามารถรักษาได้ และเด็กสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นเยาวชนที่มีอนาคตที่ดีได้" ศ.พญ.ธันยวีร์กล่าว

การรักษาที่ ศ.พญ.ธันยวีร์ ได้ร่วมวิจัยพัฒนาและเก็บรวบรวมข้อมูลกับเครือข่ายทีมวิจัยต่าง ๆ นอกจากจะได้รับการนำไปใช้ในแนวทางการรักษาเด็กในประเทศไทยแล้ว สูตรยาต่าง ๆ ที่อาจารย์ได้ทำการวิจัยพัฒนาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ยังได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และนำไปใช้ในประเทศอื่น ๆ ด้วย สอดคล้องกับเป้าหมายระดับนานาชาติเรื่องของการยุติโรคเอดส์ ซึ่ง ตั้งเป้าไว้ในปี พ.ศ 2573 ว่า ผู้ได้รับเชื้อเอขไอวีรายใหม่จะต้องน้อยลง ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ อัตราเสียชีวิตจะต่ำลงไปอีกมาก

"อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในสมัยก่อน หากหญิงตั้งครรภ์อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี โอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อด้วยนั้นมีสูงถึงร้อยละ 25-30 แต่ปัจจุบันการรักษาด้วยยาต้านไวรัสให้กับหญิงตั้งครรภ์ ทำให้โอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อด้วย ต่ำกว่าร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยากเผยแพร่ให้ทราบกันในภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อครอบครัวของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ไม่แตกต่างจากผู้ป่วยจากโรคอื่น ๆ ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ" ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าว

ปัจจุบัน ศ.พญ.ธันยวีร์ ยังคงทำงานวิจัยทางคลินิกในการรักษาและดูแลเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี การดูแลในเรื่องของการรักษา จากเดิมที่เป็นยารับประทานวันละครั้ง ปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัย ยาต้านไวรัสชนิดฉีดทุกสองเดือน หรือ ทุกหกเดือน เป็นต้น รวมทั้งเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จากเดิมที่เน้นในเรื่องการป้องกันทารกที่อาจจะรับเชื้อจากคุณแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอด ก็มาเน้นในเรื่องของกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ซึ่งกลายเป็นกลุ่มหลักในการรับเชื้อเอชไอวี ให้เยาวชนได้เรียนรู้ที่จะมีสุขภาวะทางเพศที่ดี รู้จักป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยการใช้ถุงยางอนามัย รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ที่เรียกกันว่า "ยาเพร็พ" ซึ่งเป็นงานวิจัยที่อาจารย์และทีมวิจัยทำร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

"เมื่อครั้งที่ยังเรียนอยู่ อาจารย์จะคอยสอนเสมอว่าโรคติดเชื้อในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน บริบทของระบบสาธารณสุข และ สังคมก็แตกต่างกัน เราจะเป็นหมอโรคติดเชื้อที่ดีได้ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำงานวิจัยเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเรา ประเทศไทยถือว่ามีทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนในด้านการวิจัยในระดับที่ดีมาก ในระยะแรก ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัยทางคลินิก เรามักจะคุ้นชินว่าหมอและพยาบาลมีหน้าที่รักษาโรคเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่เข้าใจว่าการทำงานวิจัยทางคลินิกคืออะไร ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาศักยภาพทางงานวิจัยของประเทศไทยเรานับว่าดีขึ้นเรื่อย ๆ มีคนที่ทำงานวิจัยเป็นอาชีพ มีหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการทำงานวิจัยทางคลินิกเพิ่มมากขึ้น ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค แต่ต้องช่วยกันพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ มากกว่า หลักสำคัญในการทำวิจัย คือเราต้องรู้ลึกและรู้จริงในเรื่องนั้น ๆ ในหัวข้อที่เราสนใจหรืออยากจะพัฒนาสร้างความเปลี่ยนแปลง และจำเป็นที่จะต้องทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจทำงาน กับทีมวิจัยสหสาขาวิชาชีพ รวมถึง เครือข่ายวิจัยนานาชาติเข้ามาทำงานร่วมกัน จึงจะประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์ในวงกว้าง" ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวในที่สุด

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับงานวิจัยทางคลินิกเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กและเยาวชน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud