คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬา เดินหน้าภารกิจเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา

พฤหัส ๑๑ มกราคม ๒๕๖๗ ๑๗:๑๖
ศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO) ขยายระยะเวลาอีก 4 ปี 2567-2570) สานต่อภารกิจเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาแห่งแรกแห่งเดียวในเอเชียแปซิฟิก เร่งดำเนินการสร้างขีดความสามารถทางห้องปฏิบัติการและอบรมพัฒนาบุคลากรในภูมิภาคฯ อย่างต่อเนื่อง  
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬา เดินหน้าภารกิจเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา

ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความท้าทายในด้านความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในการทำการเกษตรที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ คือการเพิ่มขึ้นของเชื้อดื้อยาหรือแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นของเชื้อดื้อยาส่งผลทำให้การควบคุมและรักษาโรคติดเชื้อทำได้ยากขึ้นหรือไม่สามารถทำได้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ความรุนแรงของการเจ็บป่วย และอัตราการเสียชีวิตศูนย์อ้างอิงฯ ภายใต้การดำเนินงานของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความพยายามระดับโลกเพื่อแก้ปัญหานี้ภายใต้การทำงานร่วมกับ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO)

"จุฬาฯมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมชั้นนำเพื่อสร้างสรรค์สังคมผ่านความรู้และการศึกษาวิจัยทางด้านอาหารและการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาใดๆ อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน (science, education and methodology)" ศ. ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี กล่าวย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติในทุกมิติ ทั้งเชื้อดื้อยา โรคระบาดสัตว์ข้ามแดนและโรคสัตว์สู่คน สุขภาพหนึ่งเดียว การผลิตปศุสัตว์ ความปลอดภัยทางอาหาร และกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและยั่งยืน

ศ.สพ.ญ. ดร. สันนิภา สุรทัตต์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เชื้อดื้อยายังเป็นปัญหาที่น่ากังวลในระดับโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยสามารถพบได้ทั้งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยและสัตว์ป่วย รวมทั้งในสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนไปสัมผัส โดยพบเชื้อดื้อยาได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร ประชาชนมักติดเชื้อดื้อยาจากการบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และผ่านการปรุงในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ในทางสัตวแพทยศาสตร์ได้มีความพยายามเฝ้าระวังและควบคุมการใช้ยาให้เหมาะสมในฟาร์ม โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมให้กับนิสิตสัตวแพทย์ และสัตวแพทย์ที่จบแล้ว เพื่อให้เข้าใจการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ไม่นำไปสู่การเกิดและแพร่กระจายเชื้อดื้อยาที่เพิ่มขึ้น

การเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาเป็นกิจกรรมสำคัญลำดับแรกของการแก้ไขเชื้อดื้อยา ซึ่งศูนย์อ้างอิงฯได้ทำภารกิจในการติดตามข้อมูลที่ทันสมัยทันเหตุการณ์เชื่อมโยงเชื้อดื้อยาที่เกิดจากสัตว์สู่คน รวมถึงเชื้อดื้อยาที่อยู่ในสภาพแวดล้อม พร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งและความเข้าใจในกลุ่มปฏิบัติงานผ่านการอบรมบุคลากรที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคในสัตว์ให้มีความรู้ความสามารถในการติดตามเรื่องของเชื้อดื้อยาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำงานร่วมกับห้องปฏิบัติการในแต่ละประเทศเพื่อสร้างศักยภาพในการติดตามเชื้อดื้อยาให้เท่าเทียมกันถือเป็นการเสริมความเข้มแข็งร่วมกันในระดับภูมิภาคโดยมีศูนย์อ้างอิงฯเป็นศูนย์กลางในการทำงาน

ศ. สพ.ญ. ดร. รุ่งทิพย์ ชวนชื่น ผู้อำนวยการ ศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการประเมินทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ในปี 2593 คาดการณ์การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ประมาณปีละ 88,000 ราย เสียชีวิต ปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท

ศูนย์ติดตามการดื้อยาของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีการทำงานวิจัยเพื่อติดตามข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับ ส่งผลให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการรับรองเป็นศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะของ FAO (FAO Reference Centre for AMR) ตั้งแต่ปี 2562 ถือเป็น 1 ใน 4 หน่วยงานแรกทั่วโลกที่ได้รับการรับรองเป็นศูนย์อ้างอิงด้านเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ และเป็นศูนย์อ้างอิงฯนานาชาติแห่งแรกและแห่งเดียวในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีศูนย์อ้างอิงฯ เพียง 9 แห่ง

โดยศูนย์อ้างอิงฯ มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับ FAO และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรนานาชาติทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยา ยังดำเนินการสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในภูมิภาคให้เฝ้าระวังติดตามและแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งในระหว่างปี 2562-2566 ศูนย์อ้างอิงฯ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ 7 ครั้ง เป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจประเมินและให้คำปรึกษาด้านสมรรถนะห้องปฏิบัติการ 32 แห่งใน 14 ประเทศ จัดการทดสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการประจำปี 5 ครั้งและจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ 1 ครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และป้องกันเชื้อดื้อยาที่มาจากการทำเกษตร และการผลิตอาหารที่กระทบมาถึงสุขภาพประชาชนของประเทศต่างๆในทั่วโลก

ที่มา: ฮักเดอ

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬา เดินหน้าภารกิจเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud