จ.อุดรธานี เปิดตัวคลินิกเอกชนร่วมคัดกรองและตัดแว่นสายตาเด็กนักเรียน เสริมการทำงาน รพ.รัฐ

ศุกร์ ๐๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ๑๕:๔๔
เปิดตัว "คลินิกด้านเวชกรรมจักษุวิทยานายแพทย์พิชชา" คลินิกเอกชนร่วมขับเคลื่อนโครงการตรวจคัดกรองและตัดแว่นสายตาแก่เด็กนักเรียน ชี้เป็นโมเดลใหม่ เน้นเสริมการทำงานในส่วนที่โรงพยาบาลรัฐยังครอบคลุมไปไม่ถึง
จ.อุดรธานี เปิดตัวคลินิกเอกชนร่วมคัดกรองและตัดแว่นสายตาเด็กนักเรียน เสริมการทำงาน รพ.รัฐ

นพ.พิชชา พนาวัฒนวงศ์ เจ้าของคลินิกด้านเวชกรรมจักษุวิทยานายแพทย์พิชชา ซึ่งเป็นคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมดำเนินการโครงการเด็กไทยสายตาดี เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการตรวจคัดกรองและตัดแว่นสายตาแก่เด็กนักเรียนโดยคลินิกเอกชน เป็นโมเดลใหม่ที่เริ่มทำใน จ.อุดรธานี ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2567 ซึ่งที่มาของการดำเนินการในโมเดลนี้ เนื่องจากตนรับราชการอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีด้วย และเมื่อ 2 ปีก่อนได้มีการดำเนินโครงการนี้ โดยมีเด็กที่ต้องรับการตัดแว่นจำนวน 20 คน แต่หาร้านแว่นตาที่รับตัดแว่นให้เด็กในอัตราที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายให้ไม่ได้ ทางพยาบาลจึงขอให้คลินิกของตนตัดแว่นให้

เมื่อตัดแว่นเสร็จ จึงได้สอบถามรายละเอียดการดำเนินโครงการว่าเป็นอย่างไร เหตุใดทั้งปีจึงหาได้แค่ 20 คน ทีมงานจึงเล่าให้ฟังตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรองในโรงเรียนโดยครู ส่งมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มาโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แล้วจึงจะมาถึงโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งดูแล้วมีปัญหาหลายในขั้นตอนและมีการตกหล่นระหว่างทาง

การดำเนินการในปีต่อมา จึงได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงแว่นตามากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะเด็กเหล่านี้ได้รับการคัดกรองแล้ว แต่ติดขัดปัญหาการเดินทางทำให้ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลศูนย์ได้ หรือมาได้ก็ต้องเสียค่าเดินทางสูงและต้องมาหลายครั้ง จึงเกิดโมเดลการตรวจคัดกรองเชิงรุกเข้าไปที่ รพช. ที่อยู่ห่างไกล โดยจักษุแพทย์จะเข้าไปสอนเจ้าหน้าที่ในด้านการคัดกรองและลงไปตรวจถึงที่ รพช.

ขณะที่ในปีงบประมาณนี้ ได้มีการพัฒนาขึ้นไปอีก โดยในส่วนของระบบราชการ ได้มีการนำเครื่องมือ AI เข้ามาช่วยคัดกรอง จากเดิมที่ให้เด็กอ่านชาร์ตสายตา ทำให้การคัดกรองแม่นยำมากขึ้นและจำนวนผู้รับการคัดกรองก็ทำได้มากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการนำคลินิกเอกชนซึ่งเป็นคลินิกของตนเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย เนื่องจากประชากรเด็กใน จ.อุดรธานี มีค่อนข้างเยอะ ขณะที่โรงพยาบาลรัฐก็มีศักยภาพในการคัดกรองได้ประมาณหนึ่ง จึงคิดว่าต้องใช้ภาคเอกชนเข้ามาเสริมในการตรวจคัดกรองให้เด็กกลุ่มที่เหลือเข้าถึงได้มากขึ้น

"ระบบการทำงานของรัฐ ก่อนคัดกรองก็ต้องเขียนโครงการ ตั้งงบประมาณล่วงหน้าว่าเมื่อพิจารณาจากงานประจำและจำนวนบุคลากรแล้ว จะสามารถคัดกรองเด็กได้กี่คน สมมุติเช่น คัดกรองได้ 200 คน แต่ประชากรเด็กของอำเภอนั้นมีเกิน 200 คน อาจจะ 500-1,000 คน แล้วเด็กส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร จึงเป็นที่มาของการนำเอกชนเข้ามาช่วยในส่วนที่โรงพยาบาลรัฐยังไม่ครอบคลุม เพื่อให้เด็กเข้าถึงการคัดกรองได้มากขึ้น"นพ.พิชชา กล่าว

นพ.พิชชา กล่าวต่อไปว่า ข้อดีของภาคเอกชนคือมีความคล่องตัว และทำงานแบบ one stop service มีทั้งทีมงานและเครื่องมือ ลงไปตรวจถึงที่โรงเรียน และเมื่อได้ค่าสายตาแล้วก็สั่งประกอบแว่นแล้วนำแว่นไปมอบให้เด็กเลย ทำให้เด็กไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งจะสะดวกสำหรับเด็กที่อยู่ไกลๆ ที่ผู้ปกครองไม่สะดวกพาเข้ามารับการตัดแว่นที่โรงพยาบาลอุดรธานี และนอกจากตรวจและตัดแว่นให้แล้ว ยังจะมีการดูแลหลังจากใส่แว่น เช่น หากใส่แว่นตาแล้วรู้สึกมึน ก็จะตรวจเช็คว่าเด็กรับค่าแว่นสายตาได้แค่ไหนแล้วเปลี่ยนเลนส์ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีนั้น นพ.พิชชา กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีคลินิกของตนเพียงแห่งเดียวที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลอุดรธานี โดยทางโรงพยาบาลจะคัดกรองไปก่อนตามแผนที่วางไว้ เมื่อโรงพยาบาลรัฐคัดกรองเสร็จแล้ว แล้วทางคลินิกจะดูว่าในอำเภอนั้นๆ ยังมีเด็กที่เหลือและควรจะรับการตรวจคัดกรองอีกกี่คนแล้วจึงเข้าไปช่วยเสริมในส่วนนั้น โดยเน้นที่โรงเรียนเป็นหลักเพื่อให้เด็กไม่ต้องเดินทาง

"คลินิกเราจะเน้นที่โรงเรียนรัฐบาลก่อน เพราะโรงเรียนเอกชนส่วนมากจะมีแว่นแล้ว แต่ในโรงเรียนรัฐ บางห้องมีแว่นตาคนเดียว บางห้องก็ไม่มีเลย หรือโรงเรียนในชนบทไกลๆ บางโรงเรียนก็แทบไม่มีเด็กมีแว่นตาเลย แสดงให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงแว่นตา ไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาสายตา พอไปตรวจก็พบว่ามีค่าสายตาผิดปกติรุนแรงมาก แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่กันแบบนั้น มองอะไรก็ไม่ค่อยเห็น เราเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ต.ค. 2566 ทีมของคลินิกจะลงพื้นที่ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นช่วงที่เด็กสอบหรือปิดเทอม ซึ่งจะมีเวลาเข้าไปตรวจคัดกรองได้ประมาณ 8 เดือน ดังนั้นช่วงนี้เราก็จะพยายามลงพื้นที่ให้มากที่สุด"นพ.พิชชา กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน ทางคลินิกสามารถตัดแว่นให้เด็กได้ประมาณ 100 กว่าคน ส่วนของโรงพยาบาลก็แจกแว่นให้เด็กไปได้ประมาณ 500-600 คนแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กที่รอการตรวจคัดกรองอีกจำนวนมากและน่าจะไม่สามารถตรวจให้หมดได้ในปีงบประมาณนี้ แต่อย่างน้อยก็จะพยายามให้เด็กได้รับการคัดกรองให้ได้อย่างน้อย 50% ก่อน

นพ.พิชชา กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเชิญชวนให้จักษุแพทย์ในประเทศไทยร่วมมือกัน เด็กๆจะได้เข้าถึงแว่นตาและมีประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น จริงๆแล้วโครงการนี้ไม่ได้ยากเลย ทุกอย่างมีพร้อมแล้ว ทั้งเรื่ององค์ความรู้ซึ่งจักษุแพทย์มีอยู่แล้ว เครื่องมือก็มี เพียงแต่จักษุแพทย์จะต้องเสียเวลาลงมาทำเป็นทีมนำ ว่าจะสร้างทีมคัดกรองและทีมลงไปตรวจวัดสายตาที่ รพช. ซึ่งโดยส่วนตัวต้องทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ถือว่ามีมีภาระงานค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อได้ทำแล้วรู้สึกดีที่ได้เห็นเด็กได้ใส่แว่นอย่างมีความสุข เห็นแล้วแล้วอิ่มใจทุกครั้ง

ที่มา: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๕๙ อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud