SM ส่งซิกโค้งแรกเติบโตสวย โครงการ Easy E-Receipt หนุน ปี 67 เดินหน้าทำนิวไฮ เป้าพอร์ตสินเชื่อใหม่โต 10%

ศุกร์ ๒๒ มีนาคม ๒๐๒๔ ๑๕:๔๙
"บมจ.สตาร์ มันนี่ หรือ SM" ผู้นำสินเชื่อแห่งภาคตะวันออก ส่งสัญญาณ Q1/67 อู้ฟู่ ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาตรการ Easy E-Receipt ของภาครัฐหนุนกำลังซื้อ ขณะที่ กางแผนปี 67 เดินหน้า All Time High คาดพอร์ตสินเชื่อใหม่เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% คุมเข้มคุณภาพลูกหนี้ ลั่น NPL สิ้นปีไม่เกิน 4% จากการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางสาขา และดิจิทัล จับมือพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนรูปแบบการทำงานและกระบวนใหม่ จัดทำโครงการ Lock มือถือ และการปรับดอกเบี้ยเช่าซื้อ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตมุ่งสู่นิวไฮอย่างมีคุณภาพ
SM ส่งซิกโค้งแรกเติบโตสวย โครงการ Easy E-Receipt หนุน ปี 67 เดินหน้าทำนิวไฮ เป้าพอร์ตสินเชื่อใหม่โต 10%

นายชูศักดิ์ วิวัฒน์วงศ์เกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ มันนี่ จำกัด (มหาชน) หรือ SM ผู้ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 ซึ่งเป็นโค้งแรกของปีคาดว่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดี เนื่องจากส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์มาตรการ Easy E-Receipt ของภาครัฐ กระตุ้นกำลังซื้อสินค้าและบริการเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้สูงสุด 50,000 บาท รวมถึง โครงการสนับสนุนการขาย และรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยที่จะเติบโตควบคู่ไปกับธุรกิจการให้สินเชื่อ ตอกย้ำผู้นำธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่ในภาคตะวันออกของไทย

ในด้านแผนการดำเนินธุรกิจปี 2567 เดินหน้าทำ All Time High รับเศรษฐกิจฟื้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ จะสนับสนุนกำลังซื้อที่เข้ามา พร้อมตั้งเป้าหมายการขายสินค้าและสินเชื่อใหม่เติบโตรวมไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อน ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องเช่นกัน จากพอร์ตสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 2,566.1 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 10.7% ภายใต้การควบคุมคุณภาพหนี้ บริหารจัดการ NPL ให้อยู่ที่ 3.58%

สำหรับปี 2567 SM ยังคงเดินตามแผนเชิงกลยุทธ์และขับเคลื่อนการเติบโต สำหรับการดำเนินการหลัก ได้แก่ มุ่งเน้นเติบโตในพอร์ตสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ผ่านการจัดทำโครงการ Lock มือถือ เพื่อสนับสนุนยอดขายสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟน และลดความเสี่ยง NPL ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สะท้อนจากตัวเลขผลการจัดเก็บที่ดีขึ้นตั้งแต่ทำโครงการในช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน รวมทั้ง กลยุทธ์การปรับดอกเบี้ยเช่าซื้อ สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เพิ่มผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

พร้อมกับแผนธุรกิจในการทำ Digital Transformation นำเทคโนโลยีมาช่วยปรับกระบวนการทำงาน เพื่อการพิจารณาสินเชื่อที่รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การปรับปรุงระบบ ERP e-KYC เป็นต้น อีกทั้ง ยังช่วยลดต้นทุนในการขยายสาขา เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายในการช่วยลดระยะเวลาในการให้บริการลง 40%

ตลอดจน มุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันออนไลน์เพื่อความครบวงจร และเดินหน้าขยายบริการสินเชื่อใหม่ๆ เจาะกลุ่ม B2B และ B2C รวมถึง ให้ความสำคัญในการมองหาความร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าในหลายธุรกิจ อาทิเช่น ธุรกิจด้าน Green Energy เป็นต้น

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 SM มีสาขาจำนวน 98 แห่ง ประกอบด้วยสาขาส่วนใหญ่ในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว และตราด รวมทั้งสาขาที่ตั้งอยู่ในตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา โดยเป็นสาขาหลัก 16 สาขา สาขาย่อย 71 สาขา และสาขา Express 8 สาขา นอกจากนี้ยังคงเดินหน้าสำรวจพื้นที่ในทำเลที่มีศักยภาพเพื่อเปิดสาขาเพิ่มเติมต่อไป

"SM วางกลยุทธ์การเติบโตในปี 2567 ครอบคลุมทุกมิติทั้งในด้านการขยายพอร์ตสินเชื่อที่รัดกุม การนำผลิตภัณฑ์ใหม่มาสนับสนุน ควบคู่ระบบเทคโนโลยี และการขยายพันธมิตร ตอกย้ำความแข็งแกร่งของธุรกิจ และโอกาสจากการมีสาขาเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่เขต EEC ที่กำลังเติบโตตามอุตสาหกรรมและการลงทุน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ" นายชูศักดิ์ กล่าว

ปัจจุบันธุรกิจหลักของ SM ได้แก่ 1. จำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถจักรยานยนต์ และ 2. ธุรกิจให้บริการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกัน และสินเชื่อบุคคล โดยหลักประกันเงินให้กู้ยืม เช่น เล่มทะเบียนรถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และให้บริการอื่นเพิ่มเติม เช่น การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย หรือ ประกันชีวิต เป็นต้น

ผลประกอบการปี 2566 มีรายได้รวม 1,379.85 ล้านบาท กำไรสุทธิ 61.75 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจจำหน่ายสินค้าเติบโตจากปีก่อน 14.6% เป็น 15.1% อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง (PPOP) เดิบโตจากปีก่อน 18.8% เป็น 21.9%

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดสำหรับงวดดำเนินงานวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.03 บาท กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นด้วย

ที่มา: ไออาร์ พลัส

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน