ทั้งนี้ การติดตั้งเสากั้นรถจักรยานยนต์ในลักษณะเสาเอสการ์ด เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากการกวดขันบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่เทศกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้ทางเท้าไม่ให้ได้รับอันตรายจากการขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และไม่ให้กีดขวางการใช้ทางเท้าของคนพิการ หรือผู้ที่ใช้วีลแชร์เกินสมควร ซึ่งจากการติดตั้งเสาเอสการ์ดที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนที่ใช้ทางเท้าเห็นว่า การติดตั้งเสาเอสการ์ดเป็นประโยชน์ ลดการฝ่าฝืนการจอด หรือขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าได้ ขณะที่ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตฯ ยังเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้าในการสัญจร โดยใช้มาตรการกวดขันผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นหลัก อีกทั้งเพิ่มความถี่กวดขันจุดที่มีการฝ่าฝืนจำนวนมาก ควบคู่กับการทำหนังสือเชิญเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถที่กล้องวงจรปิด (CCTV) ตรวจจับการกระทำความผิดได้มาให้ถ้อยคำและเปรียบเทียบปรับ
นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวว่า สนท. ได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้รถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 (2) แห่ง พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดที่ประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างเดือน ก.ค. 61-12 พ.ค. 67 สามารถกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 56,295 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 62,671,014 บาท
ส่วนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการนำเทคโนโลยีกล้อง AI มาช่วยจับภาพผู้กระทำผิดขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 66-12 พ.ค. 67 ผลการดำเนินการ ตรวจพบผู้กระทำผิด 70,008 ราย ออกหนังสือเชิญมาให้ถ้อยคำแล้ว 7,053 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 263 ราย เปรียบเทียบปรับ 521 ราย เป็นเงิน 345,700 บาท ซึ่ง สนท. ได้เร่งรัดให้สำนักงานเขตที่ติดตั้งกล้อง AI ออกหนังสือเชิญเจ้าของรถมาให้ถ้อยคำให้ครบทุกรายโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม การติดตั้งเสากั้นรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งนำมาทดลองใช้ในบางถนนบางพื้นที่ หากผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นผลดีและประชาชนพึงพอใจจะขยายผลในถนนที่มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนบนทางเท้าจำนวนมากต่อไป
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส. ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาการขับขี่บนทางเท้าด้วยการติดตั้งกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI เพื่อตรวจจับผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือจอดกีดขวางบนทางเท้า ซึ่งได้ติดตั้งไปแล้ว 15 จุด และอยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มเติมอีก 100 จุด คาดว่า จะแล้วเสร็จได้ภายในเดือน ส.ค. 67 พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลการกระทำผิดไปให้สำนักเทศกิจและสำนักงานเขตนั้น ๆ พิจารณาจับปรับสูงสุด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร