กทม. เข้มจัดระเบียบขอทาน-คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ย้ำ "หยุดให้ = หยุดขอทาน"

พุธ ๒๕ ธันวาคม ๒๐๒๔ ๑๓:๔๕
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวถึงการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบขอทานและคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนท. ให้ความสำคัญและไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาขอทานและคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจ มีการจ้างงานและอาชีพจำนวนมาก จึงทำให้มีประชากรหนาแน่น นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนขอทานทั้งขอทานชาวไทยและขอทานต่างชาติ การแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และใช้ระยะเวลา จึงได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เป็นต้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในระยะยาว
กทม. เข้มจัดระเบียบขอทาน-คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ย้ำ หยุดให้ = หยุดขอทาน

ส่วนการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ สนท. ได้จัดทำโครงการปฏิบัติการสำรวจตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานเมือง โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ สังกัด สนท. และสังกัดฝ่ายเทศกิจของทุกสำนักงานเขต ออกสำรวจตรวจตราทั้งคนไร้บ้านและคนขอทานในพื้นที่รับผิดชอบเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งขอทานจะเข้าข่ายเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มาตรา 13 มีโทษตามมาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 มาตรา 15 กำหนดแนวทางการปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่เทศกิจซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายส่งตัวผู้ฝ่าฝืนทำการขอทานไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต (ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร บ้านมิตรไมตรี) เพื่อคัดกรองขอทานที่เป็นเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการ หรือทุพพลภาพ ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ แต่หากพบว่าไม่ใช่บุคคลตามมาตรา 15 แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดู หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้บุคคลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตทันที ทั้งนี้ หากผู้ฝ่าฝืนทำการขอทานยอมปฏิบัติตามขั้นตอนดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการยินยอมให้ดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะ หรือยอมอยู่ในสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต มาตรา 18 ระบุว่า ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดตามมาตรา 19

นอกจากนี้ เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ฝ่าฝืนทำการขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯ สนท. ได้จัดทำแผนการตรวจพื้นที่เป็นประจำทุกเดือน โดยมอบหมายส่วนตรวจและบังคับการ 1 - 3 สำนักงานตรวจและบังคับการ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) ถนนสุขุมวิท (เขตวัฒนา เขตพระโขนง และเขตบางนา) (2) ถนนสุขุมวิทและถนนพระรามที่ 4 (เขตคลองเตย) และ (3) ถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ (เขตบางรัก) และถนนเพลินจิต (ใต้ด่วน) เขตปทุมวัน)

นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงาน กทม. และหน่วยงานภายนอก ในรูปของคณะทำงานด้านคนไร้บ้านและขอทาน ตามคำสั่ง พม. เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาการขอทาน ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น และเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการทำงาน เมื่อได้รับการประสานแจ้ง หรือตรวจพบผู้ทำการขอทานจะแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน เพื่อเชิญตัวผู้ทำการขอทานไปยังสถานีตำรวจ เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรา 13 หากคัดกรองพบว่า ผู้ทำการขอทานไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือคนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก (ตามมาตรา 15 และ 16) แล้วยินยอมเข้ารับการคุ้มครอง จะส่งตัวไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ทำการขอทาน กรณีเจ็บป่วย ส่งตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตามสิทธิการรักษาพยาบาล ดำเนินการฟื้นฟูสภาพทางร่างกายและจิตใจ หากประสงค์จะฝึกอาชีพจะดำเนินการฝึกอาชีพและบริการจัดหางานตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ จะส่งต่อสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชาย ธัญบุรี และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิง ธัญบุรี หากเป็นขอทานที่ไม่ใช่กลุ่มคนตามมาตรา 15 และ 16 ต้องดำเนินคดีตามมาตรา 19 โดยพนักงานสอบสวนจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ หรือส่งฟ้อง แล้วแต่กรณี หากเป็นกรณีขอทานต่างด้าวจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ หรือส่งฟ้องตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 แล้ว หากพบว่าหลบหนีเข้าเมืองจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และส่งตัวไปยัง สตม. เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป หากเป็นคู่แม่ลูกต้องดำเนินการตรวจพิสูจน์ DNA โดยพักคอยที่สถานคุ้มครองของ พม. ก่อนนำส่งกลับประเทศต้นทาง

ทั้งนี้ กทม. ได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในย่านแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม ย่านธุรกิจการค้า หน้าห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน สถานีรถไฟฟ้า สะพานลอย งดการให้เงินขอทาน ตามแนวคิด "หยุดให้ = หยุดขอทาน" และให้ทราบว่าการขอทานเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

กทม. เข้มจัดระเบียบขอทาน-คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ย้ำ หยุดให้ = หยุดขอทาน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๓๐ เม.ย. GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๓๐ เม.ย. PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๓๐ เม.ย. LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๓๐ เม.ย. ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๓๐ เม.ย. LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๓๐ เม.ย. SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๓๐ เม.ย. STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๓๐ เม.ย. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน