กทม. แจงข่าว กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำ 10 เขต เป็นข้อมูลเก่า ยืนยันพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วมต่อเนื่อง

จันทร์ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ๐๙:๕๓
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ระบุกรุงเทพฯ เสี่ยงที่จะจมน้ำ โดยมี 10 เขตที่เสี่ยงได้รับผลกระทบหากไม่ได้รับการแก้ไขทันทีว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าเป็นข้อมูลเก่าที่ สนน. เคยศึกษาร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมที่ดิน ซึ่ง กทม. ได้รับทราบถึงปัญหาและพัฒนาระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตามคาดการณ์ได้ เช่น พื้นที่เขตตามแนวริมแม่น้ำในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โดยปกติระดับน้ำที่ขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยมีค่าระดับเฉลี่ยอยู่ที่ -1.00 ม.รทก. ถึง +1.00 ม.รทก. (เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ) และมีค่าสูงสุดเมื่อปี 2554 ที่ระดับ +2.53 ม.รทก. ซึ่งจากสถานการณ์ของปีดังกล่าว สนน. ได้ปรับปรุงก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ โดยเพิ่มระดับแนวป้องกันฯ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ +3.00 ม.รทก. รวมถึงการเรียงกระสอบทรายเพื่อเสริมระดับแนวป้องกันน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก (ต.ค.-พ.ย.) ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 0.50 เมตร

ขณะเดียวกัน กทม. ได้รับการสนับสนุนเพื่อลดการทรุดตัวของแผ่นดินในพื้นที่กรุงเทพฯ จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ด้วยมาตรการหยุด/ห้ามการสูบน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และจากข้อมูลกรมทรัพยากรธรณีปัจจุบัน กทม. มีค่าการทรุดตัวเฉลี่ยที่ 0.35 มม. ต่อปี และในพื้นที่ที่มีระดับต่ำใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเล เช่น ถนนรามคำแหง เขตบางกะปิ และเขตบางนา เป็นต้น นอกจากนี้ สนน. ยังได้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำและระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีอุโมงค์ระบายน้ำที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 4 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง รวมถึงได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำฝั่งพระนครกว่า 700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที และฝั่งธนบุรีกว่า 500 ลบ.ม./วินาที

สำหรับแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีการซึมน้ำลดลงและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีฝนตกในพื้นที่รุนแรงขึ้น สนน. ได้พัฒนาท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงจัดทำช่องทางรับน้ำตามแนวถนนให้สามารถรับน้ำได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังได้ก่อสร้างรางระบายน้ำรูปตัวยู (U-gutter) และรูปตัวโอ (O-gutter) เพื่อทดแทนการซึมน้ำที่ลดลง ขณะเดียวกันได้พัฒนาคลองระบายน้ำสายหลักให้สามารถควบคุมระดับน้ำในพื้นที่และระบายน้ำได้มากขึ้น โดยจัดทำเขื่อนตามแนวริมคลอง พร้อมขุดลอกคลอง การจัดหาพื้นที่บึงรับน้ำเพื่อเป็นแก้มลิงเพิ่มเติมและก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินให้สอดคล้องกับสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างประเทศ เช่น JICA weathernewsjapan ช่วยจัดทำแผนแม่บทรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ศึกษาปัญหาที่เกิดในปัจจุบันและในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นสำหรับใช้ในการพัฒนาระบบระบายน้ำในอนาคต รวมถึงพัฒนา การพยากรณ์อากาศให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อสามารถแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ฝนตกหนักได้ล่วงหน้าก่อน 3 ชั่วโมง

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน