CHAYO งบ 2567 ออกมาแจ่ม รายได้พุ่ง 32.71% มั่นใจรายได้ปี 2568 โตต่อเนื่อง พร้อมหาจังหวะเติมพอร์ตหนี้เพิ่ม

อังคาร ๐๔ มีนาคม ๒๕๖๘ ๑๖:๔๔
CHAYO ประกาศงบปี 2567 รายได้สุดปัง 2,026.58 ล้านบาท เติบโต 32.71% จากธุรกิจให้สินเชื่อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและให้เงินกู้ยืม ส่วนธุรกิจน้องใหม่บริการจัดหาคนที่ทำเพียงปีกว่าเสียงตอบรับดีไม่มีตก ขณะที่กำไรสุทธิปี 67 ลดลงเล็กน้อย จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและผลขาดทุนด้านเครดิตจากการปรับประมาณพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพ ซีอีโอลั่น ปี 2568 รายได้โตกว่าปีก่อนแน่นอน พร้อมฟิตหุ่นเดินหน้าลุยหาจังหวะซื้อหนี้เติมพอร์ต
CHAYO งบ 2567 ออกมาแจ่ม รายได้พุ่ง 32.71% มั่นใจรายได้ปี 2568 โตต่อเนื่อง พร้อมหาจังหวะเติมพอร์ตหนี้เพิ่ม

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยผลประกอบการปี 2567 ว่า บริษัทฯ มีรายได้ 2,026.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 499.51 ล้านบาท หรือ 32.71% จากปี 2566 ที่ 1,527.07 ล้านบาท โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ 2 ประเภทคือ รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น จำนวน 456.80 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น จำนวน 40.86 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากมองตามประเภทธุรกิจ รายได้จากเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพยังเป็นสัดส่วนรายได้มากที่สุดคือ 90.1% โดยมียอดจัดเก็บหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและยอดรายได้จากการขายหลักประกันของหนี้ด้อยคุณภาพ ทั้งหมด 785.96 ล้านบาท ซึ่งมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อนถึง 346.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 79.01% ขณะที่ยอดจัดเก็บหนี้ที่ไม่มีหลักประกันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะบริษัทฯ มีการซื้อพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพชนิดไม่มีหลักประกันมาบริหารเพิ่มเติมทำให้มีรายได้จากดอกเบี้ยทั้งหมด 1,825.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 1,368.86 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 33.37%

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยจากการให้เงินกู้ยืมอยู่ที่ 147.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 40.86 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 38.20% ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยการเติบโตของสินเชื่อใหม่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยรับในปี 2567 เต็มปี ซึ่งยอดลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 1,067.03 ล้านบาท และสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 1,059.55 ล้านบาท

ส่วนรายได้จากการให้บริการเร่งรัดหนี้สินมีจำนวน 28.97 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 4.74 ล้านบาท หรือ 14.07% มีสาเหตุจากที่บริษัทมอบหมายพนักงานให้ติดตามทวงถามพอร์ตหนี้เสียกลุ่มบริษัทซื้อมากขึ้น ส่งผลให้รายได้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ว่าจ้างภายนอกลดลง ขณะที่รายได้จากการให้บริการจัดหาคนซึ่งเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมีนาคมปี 2566 มีรายได้ 24.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.60 ล้านบาท หรือ 37.60% ถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้ว่าจ้างเป็นอย่างดีทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกำไรสุทธิงวดปี 2567 อยู่ที่ 365.26 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 82.79 ล้านบาท หรือ 18.48% เนื่องจาก บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น และมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตของหนี้มีหลักประกันที่ครบกำหนด 5 ปี เพิ่มขึ้นด้วย

นายสุขสันต์ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 โตไม่ต่ำกว่า 20% จากปี 2567 โดยมีแผนเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL&NPA) มาบริหารอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าซื้อหนี้เสียเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุน 500 - 1,000 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2567 บริษัทฯ บริหารหนี้เสียอยู่ประมาณ 104,350 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้มีหลักประกันประมาณ 18,469 ล้านบาท และหนี้ที่ไม่มีหลักประกันประมาณ 85,881 ล้านบาท (ไม่รวมทรัพย์สินรอการขายหรือ NPA อีกจำนวน 664 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ปกติช่วงครึ่งปีแรกเป็นโลว์ซีซั่นของธุรกิจที่สถาบันการเงินจะเปิดประมูลขายหนี้เสียออกมา ประกอบกับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกมาหรือมาตรการ "คุณสู้เราช่วย" เข้ามาเสริม จึงคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะมีหนี้เสียออกมาขายน้อยกว่าครึ่งปีหลัง ซึ่งโดยปกติบริษัทจะไม่เร่งซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพใหม่เข้ามาเติมพอร์ตในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะไปเน้นในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งบริษัทยังยึดหลักการซื้อหนี้ใหม่เพื่อเติมพอร์ตจะต้องมีช่วงระดับราคาที่มีความเหมาะสมและไม่แพงเกินไป เพราะไม่อยากให้กลุ่มลูกหนี้มีภาระทางการเงินเพิ่ม โดยบริษัทประเมินว่าจะมีจำนวนหนี้ด้อยคุณภาพที่เปิดประมูลปีนี้อยู่ที่ระดับ 2 - 4 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 บริษัทได้มีการจัดตั้ง บริษัท เงินไมตรี จำกัด เป็นบริษัทด้าน IT เพื่อพัฒนาโปรแกรมหรือแพลตฟอร์มในการปล่อยสินเชื่อ (ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน รวมถึงขายฝากด้วย) มีทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5 ล้านบาท ซึ่ง CHAYO ถือหุ้นทั้งหมด 49 % คิดเป็นเงินลงทุน จำนวน 2.45 ล้านบาท และอีก 51% ถือหุ้นโดยบริษัท เวลท์ฟันด์ จำกัด

ที่มา: IR PLUS

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๔๙ ไอแบงก์ ลงนาม MOU สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ สำนักงานศาลยุติธรรม กว่า 16,000 คน ทั่วประเทศ
๑๐:๕๔ รวม 4 วิธีที่ช่วยปรับให้รถที่ขับอยู่นุ่มนวลขึ้นเหมือนได้คันใหม่
๑๐:๔๘ ซีพีแรม เปิดตัว FTEC (Food Technology Exchange Center) ศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร
๑๐:๑๔ iQIYI (อ้ายฉีอี้) เดินหน้ารุกตลาดยกระดับวงการ จัดงาน iQIYI 2025 World Conference เปิดตัวพรีเมียมไลน์อัพกว่า 400
๑๐:๑๓ บล.เกียรตินาคินภัทร แนะ 5 หุ้นนอกคุณภาพ นำโดย Netflix และ Mastercard คว้าโอกาสท่ามกลางตลาดผันผวน
๑๐:๓๖ อบอุ่นมาก! จิม ทอมป์สัน x ซี-นุนิว เสิร์ฟความฟินขั้นสุดกับ Exclusive Lucky Fan Dinner ค่ำคืนสุดพิเศษที่เหล่า ซนซน
๑๐:๕๓ เวียตเจ็ทเสริมฝูงบิน เดินหน้ารุกตลาดญี่ปุ่น ขยายเส้นทางระหว่างประเทศ หนุนแผนเติบโตปี 2568
๑๐:๕๖ เบทาโกร ได้รับการยกระดับ CAC ในระดับสูงสุด ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ และโปร่งใส
๐๙:๓๖ เฮ้าส์ สามย่าน จัดสองเทศกาลภาพยนตร์คุณภาพ กับ MOVIEMOV Italian Film Festival 2025 และ European Union Film Festival
๐๙:๑๑ จากไอดอลสู่หมอผี! ซอฮยอนฟาดหนัก เสิร์ฟความเดือด Holy Night: Demon Hunters คนต่อยผี 8 พ.ค.นี้