จุฬาฯ จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. วิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า

พุธ ๐๕ มีนาคม ๒๕๖๘ ๑๔:๓๙
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ และศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ) ในการวิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า
จุฬาฯ จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. วิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. จากนั้นเป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยา สัตว์ป่าหลายชนิดมีจำนวนประชากรลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำลายที่อยู่อาศัย และการล่าสัตว์ ซึ่งเป็นภัยต่อระบบนิเวศและการอยู่รอดของสัตว์ป่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการจัดเก็บข้อมูลชีวภาพ การศึกษาเชิงลึกด้านนิเวศวิทยา วิทยาการสืบพันธุ์ ตลอดจนนิติวิทยาศาสตร์ของสัตว์ป่า โดยการบูรณาการองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างยั่งยืน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือครั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ และองค์การสวนสัตว์แห่ง ประเทศไทยฯ จะให้การสนับสนุนตัวอย่างชีวภาพจากสัตว์ในสถานเพาะเลี้ยง ส่วน สวทช. จะสนับสนุนงานวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรม โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและการพัฒนาบุคลากร

โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะนำเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง มัลติโอมิกส์ (Multi-omics) เช่น จีโนมิกส์ (Genomics) โปรตีโอมิกส์ (Proteomics) และเมตาโบโลมิกส์ (Metabolomics) มาใช้เพื่อศึกษาการธำรงเผ่าพันธุ์ของสัตว์ป่าหายากอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีจีโนมิกส์จะช่วยวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรม ลดความเสี่ยงจากภาวะเลือดชิด และกำหนดพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสม ขณะที่โปรตีโอมิกส์และเมตาโบโลมิกส์จะช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพเพื่อการดูแลสัตว์ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดจากกรณีศึกษาหลายโครงการ เช่น การวิเคราะห์พันธุกรรมของละมั่งพันธุ์ไทย เพื่อหาแนวทางเพิ่มประชากรให้แข็งแรง การถอดรหัสจีโนมของพญาแร้ง ความร่วมมือกับต่างประเทศในการความสัมพันธ์ในกลุ่มประชากรเสือลายเมฆทั่วโลก เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

ความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายผลไปสู่โครงการอนุรักษ์ที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การศึกษาการปรับตัวของสัตว์ป่าต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การพัฒนาแนวทางขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และปล่อยคืนสัตว์ป่าสู่ป่าธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ เผยว่า ปัจจุบันบทบาทของการศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงภายในห้องเรียน แต่ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศ การอนุรักษ์สัตว์ป่าเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่สามารถนำองค์ความรู้มาสนับสนุนการดำเนินงานเชิงวิทยาศาสตร์ สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการวิจัยในเชิงอนุรักษ์ ทั้งในด้านการลดการสูญเสียสัตว์ป่า การขยายพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และการจัดการระบบนิเวศให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการดำเนินงานในระดับองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนในระดับประเทศ เพื่อให้การอนุรักษ์สัตว์ป่ากลายเป็นวาระแห่งชาติ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในระยะยาว

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ มีหน้าที่สำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้จะทำให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางพันธุกรรมของสัตว์ป่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสายพันธุ์ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทั้งสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสัตว์ป่า

นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าข้อจำกัดด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ป่าซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาเลือดชิด (inbreeding) ในสัตว์ป่า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะนำข้อมูลจากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของประชากรสัตว์ป่าและลดผลกระทบจากการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการดูแลและอนุรักษ์สัตว์ป่าให้มีความยั่งยืน ตลอดจนพัฒนากลยุทธ์และมาตรการที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง เพื่อให้สัตว์ป่ามีโอกาสอยู่รอดและคงอยู่ในระบบนิเวศอย่างมั่นคงต่อไป

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์ไบโอเทคมีหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับสัตว์และพืชเป็นหลัก ปัจจุบันมีสัตว์ป่าที่ควรอนุรักษ์เป็นมรดกของประเทศกำลังจะสูญพันธุ์ไป เทคโนโลยีดีเอ็นเอซึ่งเดิมใช้ในมนุษย์สามารถใช้กับสัตว์ได้ด้วย สวทช.มีเทคโนโลยีในการอนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์โดยใช้ดีเอ็นเอ รวมทั้งมีเทคโนโลยีในการขยายพันธุ์สัตว์หายากให้คงอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากในป่า เพื่อเป็นการสืบทอดพันธุ์สัตว์เหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และ สวทช. วิจัยและพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน