กทม. รุกพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ หนุนเพิ่มศักยภาพป้องกันน้ำท่วมกรุงฯ

ศุกร์ ๐๔ เมษายน ๒๕๖๘ ๑๔:๔๓
นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวชี้แจงกรณีมีกระแสข่าว กรุงเทพฯ จะจมน้ำจากภาวะน้ำทะเลหนุนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลจากสื่อมวลชนและนักวิชาการหลากหลายสำนักทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับความเสี่ยงที่กรุงเทพฯ อาจเผชิญภาวะ "จมน้ำ" หรือถูกน้ำทะเลรุกล้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการทรุดตัวของพื้นที่เมืองในระยะยาว กทม. ได้ติดตามสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลอย่างใกล้ชิดร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน เป็นต้น เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐาน กทม. ได้วางแนวทางป้องกันและปรับตัวทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาระบบระบายน้ำโดยอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ปัจจุบัน กทม. มีอุโมงค์ระบายน้ำที่เปิดใช้งานแล้ว 4 แห่ง ประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 4 แห่ง กำลังสูบรวม 182 ลบ.ม./วินาที รวมถึงมีแผนที่จะดำเนินการอีก 5 แห่ง กำลังสูบรวม 164 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำโดยเพิ่มขีดความสามารถกำลังสูบของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และตามคลองสายหลักต่าง ๆ ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม. มีสถานีสูบน้ำ 200 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 349 แห่ง

สำหรับการป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงตามแนวริมแม่น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน กทม. มีแนวป้องกันน้ำแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระ และคลองพระโขนง ความยาวรวม 88 กิโลเมตร สามารถป้องกันระดับน้ำได้ที่ความสูง + 2.80 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ถึง +3.50 ม.รทก. เหนือระดับทะเลปานกลาง นอกจากนี้ กทม. ได้พัฒนาและฟื้นฟูสภาพคลอง โดยก่อสร้างเขื่อนในคลองสายหลัก เพื่อรองรับปริมาณน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางเขน รวมถึงพัฒนาระบบกักเก็บน้ำทั้งในรูปแบบแก้มลิงธรรมชาติ และบ่อหน่วงน้ำ (water bank) อย่างไรก็ตาม กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นข่าวดังกล่าวและจะดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อป้องกันและปรับตัวรับต่อภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่วนการเตือนภัย สนน. ได้พัฒนาระบบติดตามสถานการณ์ฝน ระบบตรวจวัดน้ำท่วม และระดับน้ำทะเลหนุนแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ https://weather.bangkok.go.th รวมถึงเชื่อมโยงกับระบบกล้อง CCTV สถานีวัดระดับน้ำ และระบบพยากรณ์ฝน-น้ำในอนาคตล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง 24 ชม.

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๔๙ ไอแบงก์ ลงนาม MOU สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ สำนักงานศาลยุติธรรม กว่า 16,000 คน ทั่วประเทศ
๑๐:๕๔ รวม 4 วิธีที่ช่วยปรับให้รถที่ขับอยู่นุ่มนวลขึ้นเหมือนได้คันใหม่
๑๐:๔๘ ซีพีแรม เปิดตัว FTEC (Food Technology Exchange Center) ศูนย์ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร
๑๐:๑๔ iQIYI (อ้ายฉีอี้) เดินหน้ารุกตลาดยกระดับวงการ จัดงาน iQIYI 2025 World Conference เปิดตัวพรีเมียมไลน์อัพกว่า 400
๑๐:๑๓ บล.เกียรตินาคินภัทร แนะ 5 หุ้นนอกคุณภาพ นำโดย Netflix และ Mastercard คว้าโอกาสท่ามกลางตลาดผันผวน
๑๐:๓๖ อบอุ่นมาก! จิม ทอมป์สัน x ซี-นุนิว เสิร์ฟความฟินขั้นสุดกับ Exclusive Lucky Fan Dinner ค่ำคืนสุดพิเศษที่เหล่า ซนซน
๑๐:๕๓ เวียตเจ็ทเสริมฝูงบิน เดินหน้ารุกตลาดญี่ปุ่น ขยายเส้นทางระหว่างประเทศ หนุนแผนเติบโตปี 2568
๑๐:๕๖ เบทาโกร ได้รับการยกระดับ CAC ในระดับสูงสุด ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ และโปร่งใส
๐๙:๓๖ เฮ้าส์ สามย่าน จัดสองเทศกาลภาพยนตร์คุณภาพ กับ MOVIEMOV Italian Film Festival 2025 และ European Union Film Festival
๐๙:๑๑ จากไอดอลสู่หมอผี! ซอฮยอนฟาดหนัก เสิร์ฟความเดือด Holy Night: Demon Hunters คนต่อยผี 8 พ.ค.นี้