ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนมาใช้ในการส่งเสริมภาคเกษตรกรรม โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืน โดรนเกษตรในปัจจุบันเป็นเครื่องมืออัจฉริยะที่ผสานระบบ GPS การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ และการพ่นสารอย่างแม่นยำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก การจัดอบรมในครั้งนี้มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามความต้องการของพื้นที่ (demand driven) เสริมสร้างทักษะเชิงปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะในอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความเหมาะสมทั้งด้านสภาพพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร
ว่าที่ร้อยตรีพงษ์อนัน เปลี่ยนเอก ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพนาแก กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันมีค่ายิ่ง ให้กับ วิทยาลัยการอาชีพนาแก เกษตรกร ตลอดจน บุคลากรที่ส่งเสริมการเกษตร คณาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจในการต่อยอดในการทำงานหรือพัฒนาศักยภาพของตนเองในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม ขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในความเอื้อเฟื้อ ความตั้งใจ และความทุ่มเทของท่าน ที่มุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนและบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการอบรมเชิงปฏิบัติการโดรนเพื่อการเกษตรในครั้งนี้
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า "ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตรแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีโดรน พร้อมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทักษะและสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ศูนย์ฯ ประกอบด้วยอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย อาทิ เครื่องชาร์ตแบตเตอรี่ โดรนเพื่อการเกษตรพร้อมอุปกรณ์ครบชุด และระบบฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) อีกทั้งยังมีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถขอรับใบอนุญาตนักบินโดรนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย"
ในกิจกรรมครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ฯ ได้มอบใบประกาศนียบัตร แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อรับรองการเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงความรู้ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการเรียน การทำงาน หรือประกอบอาชีพในอนาคตสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองและชุมชนให้ก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะ (smart farming) ได้ในอนาคต
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ