สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) จัด TK Park Awards ขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี เพื่อยกย่องและเชิดชูบุคคล องค์กร และห้องสมุด ที่มีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยรางวัลนี้ไม่เพียงเป็นการประกาศเกียรติคุณ แต่เป็นการส่งสัญญาณไม่ว่าจะเป็นความพยายามเล็กๆ ในมุมใดของสังคม การสร้างสรรค์พื้นที่และกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ล้วนมีคุณค่าและมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง โดยมี ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ กรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษาและอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD กล่าวว่า TK Park Awards เป็นมากกว่าการมอบรางวัล แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มต้นได้จากทุกคน ทุกองค์กร ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ รางวัลนี้จึงมุ่งค้นหาและยกย่องผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ที่มีผลกระทบจริงต่อชุมชนและสังคม โดยแต่ละรางวัลจะสะท้อนบทบาทที่โดดเด่นและหลากหลายในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตผู้คน ชุมชน และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถเป็นต้นแบบให้นำไปขยายผลต่อยอดในวงกว้าง
รางวัล TK Park Awards แบ่งเป็น 5 กลุ่ม รวม 20 รางวัล โดยได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเสนอรายชื่อและคัดเลือก
สำหรับรางวัลที่ถือเป็นไฮไลต์งานนี้ คือ รางวัลเกียรติยศ "Lifetime Achievement Award" มอบแด่บุคคลผู้อุทิศตนและทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ 5 รางวัล ได้แก่
ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยผู้วางรากฐานการพัฒนาห้องสมุดไทยอย่างเป็นระบบ และยกระดับหอสมุดแห่งชาติสู่มาตรฐานสากล
ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา บุกเบิกนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการศึกษาไทย ก่อตั้งมูลนิธิศึกษาพัฒน์และโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ผู้ผลักดันแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทย พัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล และส่งเสริมการศึกษาพิเศษเพื่อความเท่าเทียม
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้ริเริ่มแนวคิด "ห้องสมุดมีชีวิต" ในประเทศไทย ผลักดันโครงการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็ก (Bookstart) และพัฒนาห้องสมุดเด็กให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้แบบ Active Learning
ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล นักวิชาการ นักเขียน นักแปลผู้สร้างสรรค์ผลงานส่งเสริมการอ่าน เช่น "อ่านให้เก่ง" และผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมการอ่านแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้นำท้องถิ่น นักพัฒนา นักขับเคลื่อนเพื่อสังคม องค์กรและห้องสมุดที่มีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ รวม 15 รางวัล ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ได้แก่ รางวัลด้านการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาเมืองหรือชุมชน (7 รางวัล) รางวัลด้านนวัตกรรมบริการห้องสมุดและการส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือ (4 รางวัล) รางวัลด้านกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมอาชีพและการเพิ่มรายได้ (2 รางวัล) และรางวัลด้านการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม และเปิดรับความแตกต่างหลากหลาย (2 รางวัล) ซึ่งทั้ง 15 รางวัลนี้ จะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมงบประมาณสนับสนุนรางวัลละ 40,000 บาท รวม 600,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดตามความประสงค์ของผู้รับรางวัล
ตัวอย่างผู้ได้รับรางวัล อาทิ ด้านการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาเมืองหรือชุมชน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิด "อุทยานการเรียนรู้ยะลา" ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แบบองค์รวมที่ผสมผสานการเรียนรู้ด้านสุขภาวะสำหรับประชาชนทุกวัย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสร้างทักษะชีวิตอย่างยั่งยืน ด้านนวัตกรรมบริการห้องสมุดและส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้นำการขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัยและครอบครัว โดยมีผลงานโดดเด่น เช่น นิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า และแอปพลิเคชันธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัย รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายสวัสดิการหนังสือเพื่อเด็ก
ส่วนห้องสมุดที่ได้รับรางวัล TK Park Awards เช่น ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่พลิกบทบาทจากห้องสมุดทั่วไปกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมอาชีพและสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกช่วงวัย เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งยังเป็นต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่ขยายผลออกไปในวงกว้าง ตัวอย่างองค์กรที่ได้รับรางวัล เช่น มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มมะขามป้อม) จังหวัดเชียงใหม่ผู้ปลุกพลังคนทั้งเมืองมาร่วมสร้าง "เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้" ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น พัฒนา "ห้องเรียนต้นแบบ" "สถานีการเรียนรู้" 8 แห่ง และจัดเทศกาลการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะคิดวิเคราะห์ และทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชน พร้อมสร้างกลไกการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
"การมอบรางวัล TK Park Awards ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโอกาสพิเศษครบรอบองค์กรและถือเป็นโครงการนำร่องที่จะนำไปสู่กิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้อื่น ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ทั้งนี้ รางวัลฯ ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ แต่ยังต้องการส่ง "สัญญาณ" ว่าแม้สิ่งที่กลุ่มบุคคล องค์กร ทำอยู่อาจอยู่ในมุมเล็กๆ ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ หรืออาจไม่มีใครมองเห็น แต่ TK Park มองเห็นและเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าและความหมาย นอกจากนี้ ยังต้องการให้สังคมเห็นว่าความพยายามของคนตัวเล็ก ๆ มีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้จริง และอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน กล้าลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคมรอบตัว"
ด้านนายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาของ TK Park ในทศวรรษใหม่ว่า TK Park มุ่งเป็นศูนย์กลางสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยมุ่งขยายพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย เข้าถึงง่าย และตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอุทยานการเรียนรู้ 3 แห่ง ภายในปี 2569 เพิ่มจุดบริการ TK Mini (ตู้ยืม-คืนหนังสืออัตโนมัติ) ในแหล่งชุมชนหนาแน่น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเนื้อหาและบริหารจัดการห้องสมุด เพื่อให้การเรียนรู้เข้าถึงง่ายได้ทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงผู้คน สร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ที่เข้าถึงและสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่
ในยุคดิจิทัล การเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจาก TK Park จะมุ่งเป็น "The Catalyst of Change" แล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง จากการเป็น "Physical Place" ให้กลายเป็น "Learning Ecosystem" ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ ใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำ และเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เพื่อออกแบบกิจกรรมและบริการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
"เป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของ TK Park จึงไม่ใช่แค่มุ่งเพิ่มจำนวนแหล่งเรียนรู้ แต่คือการทำให้การเรียนรู้กลายเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ทุกช่วงวัย และปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต" นายวัฒนชัย กล่าวปิดท้าย
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์