นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการรายงานผลการดำแนินงานของทีม SEhRT ผลัด 3 ที่ผ่านมา พบประเด็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ ประกอบด้วย การปนเปื้อนเชื้อโรคในแหล่งน้ำระบบกรองน้ำที่ชำรุดเสียหาย ตลอดจนการเกิดเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหารประเภทน้ำแข็งและข้าวสวยซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาด้านการสุขาภิบาล สุขวิทยาของผู้ประกอบปรุงอาหาร และสุขลักษณะของการประกอบการผลิตอาหาร โดยเบื้องต้นทีม SEhRT ได้ให้คำแนะนำผู้ประกอบปรุงอาหารในการปรับปรุง และการดูแลด้านการจัดการผลิตอาหารต่าง ๆ รวมทั้งมีการแจ้งเตือนทีม EMT Thailand ให้งดเว้นการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งให้ดูแลด้านสุขวิทยาส่วนบุคคล เช่น การกินอาหารปรุงสุกใหม่ การทำความสะอาดช้อนส้อม การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดเชื้อจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ นอกจากนี้ได้มีการสาธิตให้ความรู้การใช้ชุดเราสะอาด (V-Clean) ในการจัดการด้านสุขาภิบาลเบื้องต้น ประกอบด้วย สารส้ม แกว่งน้ำให้ตกตะกอน คลอรีนน้ำ ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำ และปูนขาว สำหรับฆ่าเชื้อโรค เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค รวมถึงแนวทางในการจัดการขยะติดเชื้อ การจัดการห้องน้ำส้วมให้สะอาด ปลอดภัยและเผยแพร่สื่อความรู้เกี่ยวการดูแลจัดการสุขาภิบาลสำหรับผู้ปรุงประกอบอาหาร และการล้างมือให้สะอาด 7 ขั้นตอน (ฉบับบภาษาพม่า) ในพื้นที่ เพื่อให้มีการดูแลสุขอนามัยและการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสาธารณสุขของประเทศเมียนมาต่อไป
"สำหรับทีม SEhRT ผลัด 4 ที่กำลังเดินทางไปหมุนเวียนภารกิจในครั้งนี้ ประกอบด้วยนางสาวกมลรัตน์ สังขรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายพันธกานต์ ชูโชติ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างความยั่งยืนในการจัดการด้านการสุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ เพื่อควบคุม กำกับ และป้องกันการเกิดโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ ภายหลังจากทีม EMT Thailand ได้ถอนกำลังการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมแล้ว" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย