นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา "ปะการังสู้โลกร้อน" เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล

ศุกร์ ๐๒ พฤษภาคม ๒๕๖๘ ๑๔:๐๓
นักวิจัยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ พัฒนาแนวทางช่วยปะการังให้ปรับตัวรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยการผสมเทียมอาศัยเพศและเพาะเลี้ยงปะการังในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิสูงตั้งแต่แรกเกิด เพื่อเพิ่มความอึดให้เป็น "ปะการังสู้โลกร้อน" พร้อมเผยเทคโนโลยีการแช่เยือกแข็งเซลล์สืบพันธุ์ปะการัง หวังคืนชีพปะการังในวันที่สภาพแวดล้อมในทะเลเหมาะสม
นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล

ปะการังทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะเสื่อมโทรมจากหลายปัจจัย ทั้งกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การท่องเที่ยว การประมง และมลพิษต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้า ปะการังทั่วโลกมากกว่า 90% อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เมื่อปะการังสูญพันธุ์ ความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลก็จะหายไปด้วย อันจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและสภาพอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่า สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจะยังคงอยู่ โลกจะใช้เวลาในการปรับสมดุลนานแค่ไหน ยากที่จะทำนาย สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จึงจำต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้และอยู่รอดในภาวะโลกร้อน ดังนั้น โจทย์สำคัญที่นักวิจัยหลายคนพยายามหาคำตอบคือ "ทำอย่างไรปะการังอยู่รอดในภาวะโลกร้อน?"

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ พยายามหาคำตอบนี้ และจากการศึกษาทดลองเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังหลายรุ่น มาตั้งแต่ปี 2548 ที่สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิต เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ก็พบว่า "ปะการังสามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในภาวะโลกร้อนได้ดี เมื่อปะการังถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่แรกเกิด" และนี่คือที่มาของการขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยง "ปะการังสู้โลกร้อน"

ขยายพันธุ์ปะการังด้วยเทคนิคผสมเทียม

ศ. ดร.สุชนาให้ความรู้โดยย่อเกี่ยวกับปะการังและการขยายพันธุ์ของปะการังว่า "ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Colony) ตามโขดหินในทะเล ปะการังเป็นทั้งที่อยู่และแหล่งอาหารของสัตว์ต่าง ๆ"

โดยธรรมชาติ ปะการังขยายพันธุ์ 2 วิธี ได้แก่

  1. สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ คือ การที่ปะการังปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาผสมกันในน้ำในช่วงคืนวันเพ็ญ ซึ่งมีโอกาสรอดเติบโตเป็นปะการังเพียง 0.001% เท่านั้น (ทั้งถูกสัตว์น้ำกิน และไม่ปฏิสนธิ)
  2. สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ คือ ปะการังที่หักออกมาจากปะการังเดิม ถ้าหักมาตกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะสามารถเจริญเติบโตเป็นกลุ่มปะการังใหม่ได้ การขยายพันธุ์แบบนี้ทำให้ปะการังมีโอกาสรอด 50% แต่ความหลากหลายของสายพันธุ์จะต่ำ

"การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของปะการังทั้ง 2 แบบดังกล่าวนั้น ค่อนข้างใช้เวลานาน ยิ่งในสภาวะโลกร้อน การผสมพันธุ์แบบอาศัยเพศยิ่งลดลงไปมาก ถ้าเราปล่อยให้ปะการังฟื้นฟูขยายพันธุ์ด้วยตัวเองตามธรรมชาติ ปะการังอาจเติบโตทดแทนปะการังที่ตายจากภาวะปะการังฟอกขาวไม่ทัน และเสี่ยงสูญพันธุ์ในอีกไม่ช้า" ศ. ดร.สุชนา กล่าว

สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ จึงพยายามขยายพันธุ์ปะการังด้วย "เทคนิคผสมเทียม" คือ การเลียนแบบการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติของปะการัง

ศ. ดร.สุชนา อธิบายการขยายพันธุ์ปะการังด้วยเทคนิคผสมเทียมว่า "นักวิจัยจะลงเก็บเซลล์สืบพันธุ์ ทั้งไข่และสเปิร์มของปะการังในคืนเดือนเพ็ญ ซึ่งเป็นช่วงที่ปะการังทั่วท้องทะเลพร้อมผสมพันธุ์ โดยการปล่อยสเปิร์มและไข่ออกมาพร้อมกัน แล้วนำเซลล์สืบพันธุ์เหล่านี้มาผสมพันธุ์ในบ่อเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ จนเกิดเป็นตัวอ่อนปะการัง แล้วจึงเตรียมวัสดุคืออิฐมอญ เพื่อให้ตัวอ่อนปะการังลงเกาะและเติบโตในโรงเพาะเลี้ยงเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะนำปะการังเหล่านี้กลับลงสู่ทะเลให้เติบโตอีก 3 ปี เมื่อปะการังอายุ 5 ปีปะการังก็จะพร้อมออกไข่ครั้งแรกได้ วิธีนี้ทำให้ปะการังมีโอกาสรอดและเติบโตสูงขึ้น"

จำลองสภาวะโลกร้อน เร่งปะการังปรับตัวตั้งแต่แรกเกิด

ไม่เพียงการขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนปะการัง แต่ยังต้องเพิ่มความอึดต่อภาวะโลกร้อนให้กับปะการังที่เกิดใหม่ด้วย ซึ่งกระบวนการนี้ ทีมวิจัยของ ศ. ดร.สุชนาจะนำตัวอ่อนปะการังที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบผสมเทียมมาอนุบาลในโรงเพาะเลี้ยงที่มีอุณหภูมิสูง 34 องศาเซลเซียส (น้ำทะเลปกติมีอุณหภูมิ 30-32 องศาเซลเซียส)

"ปะการังบางตัวทนความร้อนในน้ำไม่ไหว ก็จะตายตั้งแต่ตอนอยู่ในโรงเรือน ส่วนปะการังที่ปรับตัวได้ก็จะรอด และพร้อมสำหรับโอกาสที่จะไปเติบโตในท้องทะเลต่อไป"

เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี ทีมวิจัยก็นำตัวอ่อนปะการังที่รอดเหล่านี้ลงสู่ทะเล

"เราพบว่าปะการังเหล่านี้มีการปรับตัวให้ทนต่อน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงได้มากกว่าปะการังตามธรรมชาติ จึงทำให้มีโอกาสรอดจากการฟอกขาวได้มากขึ้น ถือเป็น "ปะการังสู้โลกร้อน" ที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดตั้งแต่เด็ก"

จากการติดตามและเฝ้าสังเกต ศ. ดร.สุชนากล่าวว่า "หลังจากที่ลูกปะการังสู้โลกร้อนถูกปล่อยลงทะเล มีการเติบโต และกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สามารถสืบพันธุ์เหมือนปะการังตามธรรมชาติ โดยพบครั้งแรกแล้วเมื่อปี 2566!"

"ปะการังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์สีชมพูขนาดจิ๋วจำนวนมากออกมาในน้ำทะเลพร้อม ๆ กัน ซึ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้ทีมนักวิจัยก็จะออกดำน้ำเก็บเซลล์สืบพันธุ์เหล่านี้มาช่วยขยายพันธุ์ต่อผ่านการผสมเทียม เป็นปะการังสู้โลกร้อนรุ่นต่อ ๆ ไป"

ศ. ดร.สุชนาเผยว่าค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์ปะการังด้วยเทคนิคผสมเทียมและดูแลในโรงเพาะตลอด 2 ปีอาจมีมูลค่าค่อนข้างสูง กล่าวคือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัวอ่อนปะการัง 1 ตัว เมื่อเทียบกับการหักปักชำปะการัง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อปะการัง 1 ต้น

"แต่เมื่อดูอัตราการรอดตายจากการฟอกขาวแล้ว ก็ถือว่าคุ้มแก่การลงทุน เพราะเราจะได้ปะการังพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการเรียนรู้ และทนต่อน้ำทะเลที่อุณหภูมิสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อนได้" ศ. ดร.สุชนากล่าว

อนุรักษ์ปะการังด้วยเทคโนโลยีการแช่เยือกแข็ง

แม้ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ศ. ดร.สุชนาจะพบวิธีเพาะเลี้ยงและเพิ่มจำนวนปะการังในทะเล แต่การขยายพันธุ์ของปะการังในธรรมชาติก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในทะเล

"ปะการังสืบพันธุ์เพียงไม่กี่ครั้งต่อปี โดยจะสืบพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเท่านั้น เช่น อุณหภูมิ คืนพระจันทร์เต็มดวง และการไหลของกระแสน้ำ ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนทำให้ปะการังไม่ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ตามฤดูกาล จึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปะการังในอนาคต"

ด้วยข้อห่วงใยนี้ ศ. ดร.สุชนาจึงได้ร่วมกับทีมวิจัยไต้หวัน (Dr. Chiahsin Lin) ทดลองนำ "เทคโนโลยีการแช่เยือกแข็งเซลล์สืบพันธุ์ปะการัง" ที่เก็บจากท้องทะเลเพื่ออนุรักษ์ปะการังในอนาคต

"ปะการังทุกชนิดล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น การอนุรักษ์ปะการังที่ดี คือ การช่วยให้ปะการังทุกชนิดมีโอกาสสืบพันธุ์และเติบโตได้ดี การเก็บเซลล์สืบพันธุ์ปะการังในวันนี้ จึงจำเป็นต้องเก็บให้หลากหลายสายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะนำมาใช้ในอนาคตเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมปะการังจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง"

ศ. ดร.สุชนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทีมวิจัยไทยประสบความสำเร็จในการแช่เยือกแข็งสเปิร์มแล้ว ส่วนการแช่เยือกแข็งไข่ยังอยู่ระหว่างทดลอง โดยหวังว่านี่อาจเป็นหนึ่งทางรอดในการอนุรักษ์ปะการังให้คงอยู่ในสภาวะโลกรวนนี้

อนาคตของการอนุรักษ์ปะการัง

อาจารย์สุชนากล่าวทิ้งท้ายว่าการอนุรักษ์ปะการังไม่สามารถทำได้เพียงลำพังโดยนักวิทยาศาสตร์ แต่ต้องดำเนินการในหลายมิติ ทั้งการฟื้นฟูแนวปะการัง การลดมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนงบประมาณระยะยาวจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป จะเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องและฟื้นฟูปะการังให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต ซึ่งหากมีการดำเนินการที่เหมาะสม ปะการังอาจสามารถฟื้นตัวและคงอยู่เป็นระบบนิเวศที่สำคัญของท้องทะเลต่อไปได้

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.chula.ac.th/highlight/230691/

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย และอันดับที่ 132 ในระดับเอเชีย จากมหาวิทยาลัยกว่า 2,000 แห่ง ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเอเชีย THE Asia University Rankings 2025 สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศของการศึกษาขั้นสูงของไทยในระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง



ที่มา:  ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ
นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล นักวิจัย จุฬาฯ พัฒนา ปะการังสู้โลกร้อน เพื่อทางรอดระบบนิเวศทางทะเล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๐๒ สมศักดิ์ ชูต้นแบบ NCDs Prevention Center 12 เขตสุขภาพ และโรงเรียนรักษ์ไต ล้านนา R1 พร้อมหนุน ผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง รุ่นที่ 3 สานต่อนโยบายคนไทย ห่างไกล
๑๘:๒๘ ยามาฮ่า เปิดฉาก Yamaha Thailand Music Festival 2025 เดินหน้าปลุกพลังนักดนตรีรุ่นใหม่กว่า 5,000 คน ชิงถ้วยพระราชทานฯ และเงินรางวัลรวมกว่า 1.7
๑๘:๔๒ มหาดไทย ขับเคลื่อนจัดรูปที่ดินนราธิวาส สุไหงโก-ลก พลิกโฉมเมืองชายแดน สู่การเติบโตที่ยั่งยืน
๑๘:๑๐ ร้านอาหารเวฬาภิรมย์ ณ โรงแรม วิลล่า เทวา รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล กรุงเทพฯ เปิดประสบการณ์การรับประทานอาหารอันยอดเยี่ยม
๑๗:๑๑ สวทช. จับมือมูลนิธิ SOS และ จ.ปทุมธานี สร้างชุมชนรักษ์อาหาร ดัน ปทุมธานีฟูดแบงก์โมเดล ต้นแบบการจัดการอาหารส่วนเกินระดับท้องถิ่น
๑๘:๑๓ บัตรเครดิต ทีทีบี ส่งโปรโมชัน ช้อปซูเปอร์คุ้ม รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 1,000 บาท
๑๗:๔๗ สุขภาพดีเริ่มต้นที่การป้องกัน! ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี สำหรับผู้ประกันตนโรงพยาบาลหัวเฉียว อายุ 50 ปีขึ้นไป
๑๗:๐๐ กลุ่มบริษัทยูนิไทย ร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน เนื่องในวันคุ้มครองโลก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
๑๗:๔๑ ผลิตภัณฑ์ Ax Tile EcoSoft(R) จาก Royal Thai แบรนด์ในเครือ TCM Corporation ได้รับรางวัล ASA Platform Selected Materials
๑๗:๔๐ ฉลองครบรอบ 87 ปี มอบสุขภาพดีด้วย. ชุดตรวจสุขภาพและวัคซีนป้องกันโรค